กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์กล่าวว่าการอนุมัติให้สามารถขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย จะช่วยลดแรงกดดันในระยะสั้นต่อกระแสเงินสดในการดำเนินงานของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถเข้าร่วมการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้
มาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ได้แบ่งงวดการชำระเงินสำหรับค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ค้างชำระออกเป็นหลายงวด ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อกระแสเงินสดของผู้ประกอบการ ในช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขหลักสำหรับการเข้าร่วมมาตรการการขยายระยะเวลาการชำระค่าคลื่นความถี่ คือผู้ประกอบการต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้
ฟิทช์คาดว่าการขยายระยะเวลาการชำระค่าคลื่นความถี่ 900 MHz จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับหนี้สินโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตของ AIS และ DTAC โดยเฉพาะในปีที่บริษัทต้องชำระค่าคลื่นความถี่ในจำนวนที่สูง ซึ่งได้แก่ ปี 2563 สำหรับ AIS และ ปี 2565 สำหรับ DTAC โดยหาก AIS และ DTAC เข้าร่วมมาตรการการขยายระยะเวลาชำระค่าคลื่นดังกล่าว ฟิทช์คาดว่าประมาณการอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ AIS ในปี 2563 จะลดลง 0.5 เท่าเป็น 1.4 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินของ DTAC จะลดลง 0.4 เท่า เป็น 2.3 เท่าในปี 2565 โดยฟิทช์มองว่าระดับอัตราส่วนหนี้สินสำหรับ AIS สูงเกิน 2.0 เท่า และ ของ DTAC สูงเกิน 2.5 เท่า อาจส่งผลทางด้านลบต่ออันดับเครดิต
ภายใต้เงื่อนไขการขยายระยะเวลาการชำระค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ค่าคลื่นความถี่ค้างจ่ายของ AIS จำนวน 6.4 หมื่นล้านบาท จะถูกแบ่งชำระเป็นงวด งวดละเท่าๆกันจำนวน 1.06 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในช่วงปี 2563-2568 จากเดิมที่ต้องชำระในปี 2562 จำนวน 4 พันล้านบาท และ 6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ในขณะที่งวดการชำระค่าคลื่นความถี่ของ DTAC จะอยู่ที่งวดละ 3.7 พันล้านบาทต่อปี ในช่วง 2563-2570 เมื่อเปรียบเทียบกับเงื่อนไขการชำระค่าคลื่นความถี่เดิมที่ต้องชำระเงินจำนวน 2 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2563-2564 และส่วนที่เหลือจำนวน 2.58 หมื่นล้านในปี 2565
การลงทุนในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5G ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีไม่มากนัก และส่วนใหญ่เป็นการทดลองให้บริการ เนื่องความสำเร็จในการให้บริการในระบบ 5G ในเชิงพาณิชย์ ยังมีความไม่แน่นอน ประกอบกับอุปกรณ์ที่สามารถใช้กับเครือข่าย 5G ยังมีจำนวนจำกัด ฟิทช์เชื่อว่าเทคโนโลยี 4G ยังคงเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของความต้องการในการให้บริการข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ความไม่แน่นอนของความสำเร็จในเชิงพาณิชย์สำหรับการลงทุนในระบบ 5G ในขณะที่ความพร้อมของตลาดยังไม่มี อาจทำให้กระแสเงินสดสุทธิติดลบเพิ่มขึ้น และกดดันสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ยังมิได้มีการประกาศรายละเอียดในการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz