Super Poll การเมืองแบเดิม กับ ความสงบสุข

ข่าวทั่วไป Wednesday April 17, 2019 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การเมืองแบบเดิม กับ ความสงบสุข กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,661 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการครอบคลุมทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ช่วงวันที่ 26 มีนาคม – 15 เมษายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เมื่อสอบถามถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา คิดว่าสอบได้หรือสอบตก ผลสำรวจพบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 ระบุว่า สอบตก ในขณะที่ร้อยละ 19.9 ระบุว่า สอบได้ ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.0 ระบุการเมืองแบบเดิม นายกรัฐมนตรีคนเดิม หรือนายกรัฐมนตรีคนนอก จะนำปัญหาขัดแย้งให้กับคนในสังคมค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 26 ระบุว่า ค่อนข้างน้อย ถึง น้อยที่สุด นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.5 ระบุ การเมืองแบบเดิม นายกรัฐมนตรีคนเดิม หรือ นายกรัฐมนตรีคนนอก จะได้รับการยอมรับจากการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ค่อนข้างน้อย ถึง ไม่ยอมรับเลย ในขณะที่ร้อยละ 23.5 ระบุได้รับความยอมรับค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.9 อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 เห็นด้วยต่อการนำความขัดแย้งต่าง ๆ ไปคุยกันในแกนนำฝ่ายการเมือง มากกว่า นำความขัดแย้งมาสู่กลุ่มประชาชน และที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง ความเชื่อมั่นต่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ในการดูแลความสงบ ความมั่นคงของประเทศที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.5 ค่อนข้างเชื่อมั่น ถึง เชื่อมั่นมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 16.5 ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเกือบทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขไม่อยากเห็นความขัดแย้งรุนแรงบานปลายเกิดขึ้น แนวทางการป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์มีอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1) ช่วยกันนำความขัดแย้งเชิงอำนาจการเมือง เช่น การจัดตั้งรัฐบาล การเสนอผู้เป็นนายกรัฐมนตรี และอื่นๆ หาทางออกภายในกลุ่มแกนนำการเมืองเสมือนเป็น สภาแบบไม่เป็นทางการ มากกว่าปล่อยความขัดแย้งมาใส่ในกลุ่มประชาชน เพราะจะควบคุมทิศทางได้ยาก 2) ทุกฝ่ายน่าจะหยุดการเติมเชื้อเพลิงเข้ากองไฟแห่งความขัดแย้ง หยุดข่าวลือ (Stop Rumours) แต่หันมารณรงค์ขับเคลื่อนประเทศเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการใช้ถ้อยคำทัศนคติที่ดีต่อกันและหน้าที่พลเมืองที่ดีผ่านการพูดคุยบอกต่อและการพูดคุยในโลกโซเชียล 3) หยุดการกระทำที่ฝ่าฝืนคุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองและหยุดฝ่าฝืนเจตจำนงค์ของสาธารณชน ถ้าเป้าหมายหนึ่ง (Goal) อยู่ที่ความสงบมั่นคงของประเทศ วิธีการต่าง ๆ (Means) ต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเหมือนที่ฝ่ายต่าง ๆ กำลังพยายามทำกันอยู่ตอนนี้ ถ้าหากฝืนทำต่อไป อาจจะต้องเหนื่อยกันอีกหลายเท่าตัวและบ้านเมืองก็จะถอยหลังเพราะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลในการบูรณะฟื้นฟูและเยียวยาประชาชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ