กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ที่ 'BBB+' และอันดับเครดิตภายในประเทศที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL พิจารณาจากความแข็งแกร่งของธนาคารเองซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (Viability Rating หรือ VR) หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิมีสถานะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL พิจารณาจากเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทย ความสม่ำเสมอในการระดมเงินและสภาพคล่อง (funding and liquidity) รวมถึงความแข็งแกร่งของฐานะเงินกองทุน BBL ยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และกิจการธนาคารต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงรูปแบบการบริหารงานที่ระมัดระวังของ BBL เมื่อเทียบกับธนาคารในประเทศ ซึ่งสะท้อนโดยการรักษาระดับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งกว่าธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่นอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารที่ 191% ณ สิ้นปี 2561 อัตราส่วนเงินกองทุนตามการคำนวนของฟิทช์ (Fitch Core Capital Ratio) ที่ 17% และอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ 90% (เทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 145% 16% และ 98% ตามลำดับ) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของธนาคารที่ต่ำกว่าแต่มีเสถียรภาพมากกว่าธนาคารอื่นในกลุ่มเดียวกันซึ่งเป็นผลจากแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคาร
ฟิทช์คาดว่า อัตรากำไรของ BBL จะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2562 จากแนวโน้มรายได้ที่ดีขึ้นและค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่ลดลงเนื่องจากแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ผ่อนคลายลง แม้การปรับตัวแย่ลงของสภาพเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL แต่ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งของธนาคารน่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงได้
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ BBL สะท้อนถึงการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนจากการที่ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากที่มีนัยสำคัญที่ 17%
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ฟิทช์จัดอันดับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ที่ไม่เข้าเกณฑ์บาเซล 3) ของ BBL ที่ระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 1 อันดับ เพื่อสะท้อนสถานะด้อยสิทธิตามโครงสร้างเงินทุนเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน รวมถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มีสูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ ทั้งนี้ไม่ได้มีการลดทอนอันดับเครดิตเพิ่มเติมเนื่องจากข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนในระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) และไม่มีคุณสมบัติในการรองรับผลขาดทุนในลักษณะที่เป็นการบังคับตัดเป็นหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down) ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเครดิตของ BBL เมื่อเทียบกับโครงสร้างเครดิตของธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศไทย เช่น อันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอัตราส่วนที่สำคัญทางการเงินของธนาคารเช่นฐานะเงินกองทุน และสภาพคล่องของธนาคารปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศไทยโดยที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
โอกาสที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับถือว่าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากอันดับเครดิตของธนาคารอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และยังมีสัดส่วนเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในระดับสูง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยน่าจะส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL ถูกปรับลดอันดับเช่นกัน
นอกจากนี้ การปรับตัวด้อยลงอย่างมากและต่อเนื่องของอัตรากำไรและคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสำหรับช่วงอันดับเครดิต 'bbb' อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารถูกปรับลดอันดับ แม้ว่าธนาคารจะมีจุดแข็งในด้านความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในระดับสูง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
ฟิทช์อาจต้องทบทวนการประเมินอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ BBL ใหม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงในความสามารถของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ จากการที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารถูกปรับลดอันดับได้
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในมุมมองของฟิทช์ต่อแนวโน้มที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคาร อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BBL จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
BBL:
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB+'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'
- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb+'
- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ 'BBB-'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB+'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ 'BBB'