กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--เมืองไทยประกันชีวิต
นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength : IFS) จากฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 เป็น 'A-' หรืออยู่ในระดับ "แข็งแกร่ง" จาก 'BBB+' หรือระดับ "ดี" และคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS) ที่ 'AAA(tha)' ซึ่งเป็นอันดับเครดิตในระดับประเทศที่สูงที่สุดแล้ว โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทฯ สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจประกันชีวิตที่แข็งแรง ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และฐานะทางการเงินที่มั่นคงของบริษัทฯ
โดยฟิทช์ เรทติ้งส์ ให้ความเห็นว่า โครงสร้างธุรกิจประกันชีวิตของเมืองไทยประกันชีวิต อยู่ในระดับแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรม เครือข่ายทางธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเบี้ยประกันชีวิตรับรวมเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย และยังได้รับการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดทางด้านการดำเนินงานและเทคนิคจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท อีกทั้ง ยังมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามระดับความเสี่ยงของบริษัทฯ อยู่ในระดับที่แข็งแรงโดยสะท้อนจากระดับของเงินกองทุนที่ 379% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ซึ่งสูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่ 140% และถือว่าอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ('Strong')
เช่นเดียวกับปัจจัยด้านผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่ยังคงมีการดำเนินงานที่แข็งแรงต่อเนื่อง ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการรับประกันภัยที่รัดกุมและจากผลตอบแทนของเงินลงทุนที่สม่ำเสมอ โดยบริษัทฯ มีอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เฉลี่ยที่ 2.7% ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2561 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกับบริษัทประกันชีวิตอื่นทั้งในและต่างประเทศ
นโยบายการลงทุนนั้น บริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นบ้าง เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะสั้น โดยบริษัทฯ มีสัดส่วนเงินลงทุนในตราสารทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ของสินทรัพย์ลงทุนรวม ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2561 โดยแนวโน้มการลงทุนในตราสารทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ยังคงสอดคล้องกับ
บริษัทประกันชีวิตอื่นในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีการควบคุมความเสี่ยงของการลงทุนผ่านการกำหนดนโยบายการลงทุนอย่างระมัดระวังและรักษาสมดุลระหว่างผลตอบแทนที่จะได้รับ ความเสี่ยงของการลงทุน และค่าความเสี่ยงของการคำนวณเงินกองทุน อาทิ บริษัทฯ จะลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพที่ดี และมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน โดยมีสัดส่วนเงินลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจต่อส่วนทุนของบริษัทอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 390% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561
นายสาระ กล่าวเสริมว่า เมืองไทยประกันชีวิตให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมั่นคงแข็งแกร่งมาโดยตลอด เพราะบริษัทฯ อยู่ในธุรกิจการเงิน ความน่าเชื่อถือไว้วางใจที่ผู้บริโภคมีต่อบริษัทฯนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และ "ฟิทช์ เรทติ้งส์" ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับนานาชาติ จึงเป็น "คนกลาง" ที่เข้ามาช่วยยืนยันสถานะความมั่นคงแข็งแกร่งของเมืองไทยประกันชีวิตได้เป็นอย่างดี" นายสาระ กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ยังคงเป็นบริษัทประกันชีวิตที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม (Innovation) พร้อมก้าวเคียงคู่ไปกับลูกค้าในทุกช่วงของชีวิต (Life Stage) ผ่านนโยบาย "MTL Everyday Life Partner" เดินหน้าออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ผ่านนวัตกรรม และแนวคิดแบบ Outside In ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการในรูปแบบที่มีความเฉพาะตัว (Segment of One) และเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน และมุ่งเน้นการปลดล็อคข้อจำกัดในการทำประกันชีวิตและสุขภาพ (Health Revolution) ที่มอบความคุ้มครองและสร้างความอุ่นใจที่มากขึ้น
ล่าสุด บริษัทฯ ปรับภาพลักษณ์องค์กรครั้งใหญ่ (Brightening the Brand) ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ให้มีความสดใส ทันสมัย และเป็นสากลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ภายใต้สโลแกน "Happiness Means Everything: เพราะความสุขคือทุกอย่าง" โดยมุ่งเน้นเรื่องของการส่งมอบความสุขในทุกด้านให้กับลูกค้า พนักงาน พันธมิตร และผู้เกี่ยวข้อง อย่างยั่งยืน พร้อมตอกย้ำจุดยืนนโยบาย "MTL Everyday Life Partner" ที่พร้อมเดินเคียงข้างในทุกช่วงของชีวิต สำหรับตัวตนของเมืองไทยประกันชีวิตต่อจากนี้ จะยังคงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Products) กระบวนการทำงาน (Process) และการให้บริการ (Services) ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายในรูปแบบเฉพาะบุคคล (Personalized) มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ยกระดับองค์กรสู่ความเป็นสากล ทันสมัย และสามารถรับมือกับโลกยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มตัว ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า (Data Analytics) รวมถึงได้นำระบบกระบวนการทำงานอัตโนมัติ (Robotic Process Automation หรือ RPA) เพื่อให้การทำงานเป็นแบบอัตโนมัติและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาใช้ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็ว สะดวก และง่ายยิ่งขึ้น