กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่ 'BBB' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' โดยธนาคารมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
การสนับสนุนจากรัฐบาลไทยเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB โดยฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) แก่ KTB ในกรณีที่มีความจำเป็น ทั้งนี้การสนับสนุนดังกล่าวจากรัฐบาลเป็นปัจจัยหนุนอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ที่ '2' และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ 'BBB' ซึ่งเป็นตัวกำหนดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ 'BBB' หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิมีสถานะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปัจจัยการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งสะท้อนในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (Viability Rating) ที่ 'bbb-' นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารของ KTB ยังต่ำกว่าของธนาคารใหญ่อื่นๆ 1-2 อันดับ โดยมุมมองของฟิทช์ยังสะท้อนถึงฐานะเงินกองทุนของ KTB เมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และความสามารถในการหารายได้ของธนาคาร ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนของ KTB น่าจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารไทยรายอื่นที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB ยังสะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทยและฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะในกลุ่มรัฐวิสาหกิจและข้าราชการ โดยปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้ธนาคารรักษาความสามารถในการระดมทุน (funding) ให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ
KTB อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านรายได้ในระยะสั้น โดยมีแรงกดดันจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงและค่าใช้จ่ายลงทุนในด้านระบบไอทีของธนาคารที่เพิ่มขึ้น (หรือ digital banking) แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่า KTB น่าจะสามารถบริหารจัดการความท้าทายดังกล่าวได้ในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงคุณภาพสินเชื่อต่อเนื่อง และยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของธนาคาร โดยความเสี่ยงจากความกระจุกตัวของสินเชื่อและจากการที่ธนาคารมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ รวมทั้งการที่ธนาคารมีแผนการเพิ่มสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในระยะปานกลาง น่าจะเป็นปัจจัยที่กดดันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor)
อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB สะท้อนถึงการที่ธนาคารพาณิชย์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนได้จากการที่ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากมากกว่า 15% ของระบบธนาคารพาณิชย์ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB ที่ 'BBB' อยู่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง 1 อันดับ เนื่องจาก KTB ไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศเท่านั้น แต่ KTB ยังมีความสำคัญในเชิงกลยุทย์ต่อรัฐบาลไทย โดย KTB เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ทั้งยังมีความใกล้ชิดในการดำเนินงานกับกระทรวงการคลังและธนาคารยังใช้สัญลักษณ์ทางการค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสัญลักษณ์ของกระทรวงการคลัง
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ KTB ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงการที่หุ้นกู้ดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติในการรองรับผลขาดทุนในลักษณะที่เป็นการบังคับตัดเป็นหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down) และความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกปรับลดอันดับเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ดาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption)
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ของ KTB ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 1 อันดับ ทั้งนี้แนวทางในการพิจารณาอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวฟิทช์ใช้อันดับเครดิตสากลกสุลเงินต่างประเทศที่สะท้อนถึงโอกาสที่ KTB จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ (support driven) เป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง (anchor rating) ในการจัดอันดับแทนที่จะใช้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร เนื่องจากฟิทช์มองว่าภาครัฐน่าจะให้การช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability) ในขณะที่อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวที่อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิงอยู่ 1 อันดับ สะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิ การรองรับผลขาดทุนในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วน (partial write-down) โดยไม่มีการบังคับตัดหนี้สูญทั้งจำนวน และการไม่มีคุณสมบัติที่สามารถรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ซึ่งอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำนั้นสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ต่อความสามารถของภาครัฐในการให้การสนับสนุนและโอกาสที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
การเปลี่ยนแปลงของระดับเงินกองทุนเป็นปัจจัยหลักที่อาจส่งผลกระทบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตของ KTB หากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารปรับตัวลดลงต่ำกว่าธนาคารอื่นในกลุ่ม 'bbb-' ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการที่ธนาคารมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้สูงขึ้น หรือมีรายได้ที่ปรับตัวลดลงเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง นอกจากนี้การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้จากการที่ KTB มีการเติบโตของสินเชื่อที่สูงขึ้นมากจากนโยบายเชิงรุก ซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวแย่ลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเงินกองทุนของธนาคาร ในทางกลับกันการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินมีความเป็นไปได้น้อยในขณะนี้ แต่สามารถเกิดขึ้นได้หากธนาคารมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนของธนาคาร โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นที่พร้อมๆกันอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
ฟิทช์อาจต้องทบทวนการประเมินอันดับสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB ใหม่หากมีการเปลี่ยนแปลงในความสามารถของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคาร เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากการที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับลง
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในมุมมองของฟิทช์ต่อแนวโน้มที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ KTB อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคาร อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลางเนื่องจากธนาคารมีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล (quasi-policy) อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตอ้างอิงของตราสารนั้นๆ ซึ่งคืออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวหรืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb-'
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับที่ 'BBB'
- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'
- อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'AA+(tha)'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ 'BBB-'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ 'AA(tha)'