กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ สถิติล่าสุดในปี 2561 ไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านกว่าคน มากที่สุดในกทม. รองลงมาคือโคราช และเชียงใหม่ จิตแพทย์แนะทุกครอบครัวใช้สูตร 5 สุข 5 มอบ เติมความสุขความอิ่มใจผู้สูงวัย พร้อมให้สังเกต 5 สัญญาน ความผิดปกติทางใจของผู้สูงวัย ทั้งการกิน การนอน โดยเฉพาะอาการป่วยใจที่อาจแฝงมาในรูปป่วยกายได้ เช่นปวดหัว ท้องอืด รักษาไม่หาย หาสาเหตุไม่เจอ ขอให้รีบพูดคุย ใช้ยาใจดูแล จะช่วยคลี่คลายดีขึ้น หากยังไม่ดีขึ้นโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ (13 เมษายน 2562) คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มให้ความสำคัญคุณค่าสูงอายุและตอบแทนคุณความดีด้วยความรักความผูกพัน ความอ่อนโยน นุ่มนวลจะเกิดความสุขใจอย่างแท้จริง สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศล่าสุดในปี 2561 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 10,666,803 คน คิดเป็นร้อยละ 16.1 ของประชากรทั้งหมดที่มี 66 ล้านกว่าคน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 เฉลี่ยวันละประมาณ 1,200 คน จังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 1,020,917 คน รองลงมาคือนครราชสีมา 435,347 คน เชียงใหม่ 316,847 คน ขอนแก่น 299,639 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับลูกหลาน
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางจิตใจได้ง่าย ที่พบได้บ่อยได้แก่ ความเครียด วิตกกังวล สมองเสื่อม ซึมเศร้า ซึ่งรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 พัฒนาวิชาการองค์ความรู้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อส่งเสริมระบบบริการผู้สูงอายุครอบคลุมสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับในพื้นที่เขตสุขภาพที่9 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ ซึ่งมีผู้สูงอายุรวม 1 ล้าน 1 แสนกว่าคน และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทุกกลุ่มมีความสุขตามนโยบายของกรมสุขภาพจิตในปี2562-2563 โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่สุขภาพยังดี ซึ่งมีประมาณร้อยละ 70 จะหนุนจัดกิจกรรมผ่านทางชมรมผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มที่เจ็บป่วยโรคเรื้อรังหรือเรียกว่ากลุ่มติดบ้าน ติดเตียง รวมทั้งผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยว จะดูแลเป็นพิเศษ เพิ่มการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า และเร่งพัฒนาโปรแกรมสร้างพลังใจให้ผู้สูงอายุในชุมชนที่อยู่ในสถานะต้องพึ่งพิงในระยะยาวด้วย
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า ความสุขในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุหลักๆ มาจาก 2 ทาง คือจากตนเองและจากครอบครัว โดยในส่วนของผู้สูงอายุให้ปฏิบัติด้วยสูตรสร้างความสุขตัวเอง 5 สุข ดังนี้ 1. สุขกายสบายใจ โดยเข้าใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามวัย รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสมอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง เมื่อไม่สบายต้องบอกลูกหลานตั้งแต่เนิ่นๆ 2. สุขสนุก คือสร้างความสนุกให้ชีวิต ไม่เก็บตัว เช่น เข้าสังคมสังสรรค์กับเพื่อนๆ ทำงานอดิเรก หรือมีอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี 3. สุขสง่า ยึดมั่นในความดี ให้คำปรึกษาช่วยเหลือคนรุ่นหลัง เป็นคลังสมองของครอบครัว ชุมชน สังคม ใช้เงินออมอย่างรอบคอบ 4. สุขสงบ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่นับถือ อารมณ์หนักแน่น มั่นคง และ5. สุขสว่าง คือใช้ชีวิตอย่างมีสติ เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง
ในส่วนของครอบครัวลูกหลาน มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติต่อผู้สูงวัยให้มีความสุข ด้วยสูตร 5 มอบ ได้แก่ 1. มอบความรัก ห่วงใยให้ความเคารพ ยกย่องให้เกียรติ ทั้งการพูดและการกระทำ เช่น กล่าวทักทายก่อน เชิญทานอาหารก่อน 2. มอบความเข้าใจ ยอมรับการการเปลี่ยนแปลงเสื่อมตามวัยของผู้สูงอายุ เช่นการหลงลืม พูดซ้ำๆเรื่องเดิม 3. มอบสัมผัสด้วยการกอด จับมือ บีบนวดถ่ายทอดความรักที่มีต่อผู้สูงอายุ 4. มอบเวลา เช่นพาไปวัด ไปเที่ยว ไปทานอาหาร หรือโทรพูดคุยถามความเป็นอยู่ และ 5. มอบโอกาสให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมหรือทำงานที่ท่านสามารถทำได้ หรือให้ท่านเล่าประสบการณ์ที่ท่านภาคภูมิใจและลูกหลานนำมาปรับใช้ในชีวิต เป็นต้น
ประการสำคัญ ขอให้ครอบครัว ลูกหลานช่วยกันสังเกตปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ โดยสามารถดูจากชีวิตประจำวันที่ผิดไปจากเดิม 5 เรื่อง ดังนี้ 1. การกินผิดปกติ อาจกินมากขึ้นหรือน้อยกว่าเดิม เบื่ออาหาร ซูบผอมทั้งๆไม่มีปัญหาทางร่างกาย 2.การนอน อาจนอนหลับมากกว่าปกติ บางคนอาจนอนไม่หลับ ตกใจตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ บางคนอาจฝันร้ายติดต่อกันบ่อยๆ 3. อารมณ์ผิดปกติ เช่นหงุดหงิดบ่อยขึ้น เศร้าซึม เคร่งเครียด ฉุนเฉียว วิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิม 4. มีพฤติกรรมเปลี่ยน เช่น เคยร่าเริงแจ่มใสก็กลับซึมเศร้า เงียบขรึม ไม่พูดไม่จา บางคนก็หันไปพึ่งเหล้า บุหรี่ บางคนที่พูดน้อยก็กลายเป็นคนพูดมาก และ 5. มีอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น บ่นปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดกระดูก วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการที่เป็นผลมาจากจิตใจที่มีความเครียด วิตกกังวลซึ่งพบได้บ่อยแต่ประชาชนมักไม่รู้ตัว และจะไปพบแพทย์บ่อยๆ แต่หาสาเหตุความผิดปกติไม่เจอ กินยาแล้วไม่ดีขึ้น ไม่หาย หากพบผู้สูงอายุมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบพูดคุย ซึ่งลูกหลานจะช่วยได้ดี หากยังไม่ดีขึ้นขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด24 ชั่วโมง นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว