กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--กรมส่งเสริมการเกษตร
ตลาดเกษตรกร โครงการสำคัญจากกรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนให้ทุกจังหวัดมีสถานที่จำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐาน ผ่านกลไกเกษตรจังหวัด ซึ่งจะรับหน้าที่เป็นผู้จัดการตลาดเกษตร ขับเคลื่อนและผลักดันตลาดเกษตรกรให้เป็นช่องทางการซื้อ การขายผลผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพในระดับพื้นที่ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเกษตรกรผู้ผลิตได้โดยตรง
การเกิดขึ้นของตลาดเกษตรกร หรือ ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตร เริ่มดำเนินการในเบื้องต้น 40 จังหวัด เป็นการเปิดลานโล่งหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ หรือ ในสถานที่ราชการ โดยการกางเต้นท์ให้เกษตรกรมาวางจำหน่ายสินค้า เป็นช่องทางหนึ่งที่จะสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรที่มีศักยภาพได้เรียนรู้พัฒนาทักษะด้านการตลาด ทั้งการพัฒนาตลาดเดิมที่มีอยู่ หรือหาแหล่งจัดสร้างตลาดใหม่ๆ ที่อยู่ในเขตชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ และจากเสียงตอบรับจากเกษตรกร และผู้บริโภค แนวคิดนำร่องตลาดเกษตรถาวร จึงเกิดขึ้นใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย ลำปาง พิจิตร ราชบุรี กาญจนบุรี ชัยภูมิ และ กระบี่ และนอกจากสินค้าจากเกษตรกรแล้ว ยังรองรับสินค้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การสนับสนุนอาทิ การส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงสินค้าจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน Yong Smart Farmer
ตลาดเกษตรกรถาวร จังหวัดลำปาง เป็นอีกตัวอย่างของการบริหารจัดการ ที่จับต้องได้ โดยมีจุดเด่นเป็นตลาดเกษตรที่จำหน่ายสินค้าที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไม่มีสารพิษตกค้าง อาทิ มาตราฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย มาตราฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ และ PGS ระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น อย. มผช. HACCP ส่วนประเภทอาหารปรุงสุก จะต้องผ่านการอบรมสุขาภิบาลอาหาร การบริหารจัดการพื้นที่ตลาด ก็มีคณะกรรมการตลาดเกษตรกรทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเก็บค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและบำรุงรักษาในรูปแบบกองทุนกลุ่ม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสาธารณูประโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าทำความสะอาด ค่ากำจัดสิงปฏิกูลมูลฝอย/ขยะ ค่าจ้างยามรักษาการ และดูแลพื้นที่ร่วมกัน มิได้เกิดรายได้ในเชิงธุรกิจ และผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดเกษตรกรผ่านกระบวนการเรียนรู้บริหารจัดการสินค้าเกษตร เป็นเกษตรกรตัวจริงและสมาชิกกลุ่มส่งเสริมของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จริง ไม่ใช้ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจโดยเปิดให้บริการทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ เวลา 06.00-14.00 น. ซึ่งมีเกษตรกรสนใจสมัครเข้ามาขายสินค้ากว่า 109 ราย และเริ่มเข้ามาขายแล้วกว่า 84 ราย สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาขาย สินค้าเป็นประเภทผัก ผลไม้ ผักพื้นบ้าน สินค้าแปรรูป อาหารปรุงสุกพร้อมทาน มีเงินสะพัดในตลาดกว่า 162,920 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) โดยในอนาคตจะทำการขยับขยายวันเปิดตลาดให้มากขึ้นและบริหารจัดการผลผลิตให้เพียงพอต่อการนำมาขาย เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้ จากความพร้อมของเกษตรกร ที่ต้องใช้เวลาในการดูแลพืชผักที่ตนเองปลูก จึงทำให้สามารถเปิดตลาดได้แค่เพียงช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นั่นเอง
การตั้งตลาดเกษตรกรถาวรที่จังหวัดลำปาง น่าจะเป็นตลาดต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ในการที่สร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ได้เรียนรู้ทางด้านการผลิตและความต้องการทางการตลาด ด้วยการขายสินค้า กำหนดราคาจำหน่ายสินค้าได้ด้วยตนเองในราคาที่เป็นธรรม และยังได้พบปะผู้บริโภคเพื่อนำสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการไปพัฒนาผลผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า ช่วยขยายช่องทางทางการตลาดและบริการ ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น