กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 ช่วง 7 วันของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" ระหว่างวันที่ 11 - 17 เม.ย. 62 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,338 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 386 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,442 คน กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และนำมากำหนด แนวทางการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระยะยาวอย่างยั่งยืนทั้งช่วงปกติและเทศกาลสำคัญ
นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 17 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 273 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 30 ราย ผู้บาดเจ็บ 277 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 38.10 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 26.74 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.15 รถปิกอัพ 7.42 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 72.89 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 46.15 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 25.64 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 08.01 – 12.00 น. และ 12.01 – 16.00 น. มีค่าเท่ากันร้อยละ 23.81 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,039 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,454 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 981,987 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 210,883 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 55,805 ราย ไม่มีใบขับขี่ 48,183 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 10 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (11 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (11 – 17 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 386 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,442 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ พังงา สุโขทัย และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช (จังหวัดละ 128 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี และอุดรธานี (จังหวัดละ 15 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (136 คน) สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 36.61 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.31 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.25 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.15 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.48 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.98 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.09
นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า ในภาพรวมจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 7.66 รวมถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับลดลงถึงร้อยละ 3.67 ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญจากความร่วมมือของผู้ใช้รถใช้ถนน การบังคับใช้กฎหมายเพื่อกวดขันวินัยจราจรอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุในช่วง 7 วันของการรณรงค์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตยังคงเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างร้ายแรง อาทิ การดื่มแล้วขับ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การขับย้อนศร นอกจากนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำมากำหนดแนวทางการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระยะยาวอย่างยั่งยืนทั้งช่วงปกติและเทศกาลสำคัญ ทั้งนี้ ศปถ. ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชน
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยจะได้กำชับให้จังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุสูง (อำเภอสีแดงและสีส้ม) ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก ค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ที่ครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงให้ประเมินผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุตามมาตรการที่กำหนด โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้อุบัติเหตุทางถนนลดลง จะนำมาเป็นแนวทางในการทำงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้พิจารณากำหนดมาตรการเสริมและวางแผนงานในภาพรวมที่สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุในพื้นที่ อีกทั้งพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดความสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้ร่วมกับจังหวัดถอดบทเรียนและทบทวนมาตรการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำมากำหนดแนวทางในการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศ อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมสร้างความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนที่ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ทำให้สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลง ทั้งนี้ ปภ. จะได้ประสานทุกหน่วยงานภายใต้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนบูรณาการบริหารจัดการอุบัติเหตุครอบคลุมทุกปัจจัยเสี่ยง ทั้ง คน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคู่กับการรณรงค์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยอย่างยั่งยืน