กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมและการซ้อมแผนสำหรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในระดับประเทศ โดยมีรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฝ่ายปฏิบัติการเป็นประธาน เพื่อจัดทำแนวทางการเตรียมความพร้อม การซ้อมแผน พร้อมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัด ตลอดจนเตรียมการฝึกซ้อมแผนในระดับประเทศ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ไข้หวัดนก หรือไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกสายพันธุ์ H5N1 ที่เริ่มระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ทำให้มีผู้ป่วยในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย และปัจจุบันยังพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความสูญเสียที่เกิดขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมและการซ้อมแผนสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในระดับประเทศ โดยมีรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายปฏิบัติการ เป็นประธาน ทำหน้าที่จัดทำแนวทางการเตรียมความพร้อมและการซ้อมแผนพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในระดับประเทศ และสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ มีการเตรียมความพร้อม พร้อมทั้งจัดทำยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาฯ และแผนแม่บท (Master Plan) กลาง สำหรับให้ทุกหน่วยงาน ใช้เป็นแผนในการเตรียมความพร้อมระดับหน่วยงาน (แผนเตรียมความพร้อมในเหตุการณ์ปกติและแผนเตรียมพร้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ขนาดใหญ่) รวมทั้งดำเนินการฝึกซ้อมแผนควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในระดับจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการฝึกซ้อมไปแล้ว 64 จังหวัด ตลอดจนเตรียมการซ้อมแผนในระดับประเทศต่อไป นอกจากนี้ ปภ. ได้แจ้งแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากไข้หวัดนกในสัตว์ปีกไปยังจังหวัด โดยเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่า โรคระบาดในพื้นที่เป็นภัยพิบัติฉุกเฉินจำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน ให้ประกาศควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 และดำเนินการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 โดยสามารถจ่ายเงินทดรองราชการฯ (งบ 50 ล้านบาทของจังหวัด) ในด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข สำหรับการรักษาและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ การจัดหาวัคซีน และเวชภัณฑ์รักษาสัตว์เพื่อป้องกันและกำจัดโรค พร้อมอาหารสัตว์ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติในพื้นที่ ด้านการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้แก่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ค่าจ้างเหมาหรือจ้างแรงงานแบกหามสิ่งของ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลา ค่าใช้จ่าย
ในการเดินทางปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ และในกรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศกำหนดเขตพื้นที่โรคระบาด หรือเขตสงสัยมีโรคระบาด ผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการ สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการฯ (งบ 50 ล้านบาท) ตามระเบียบกระทรวงการคลังโดยจ่ายเงินชดใช้ค่าทำลายสัตว์ปีกที่เป็นโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาด ร้อยละ 75 ของราคาสัตว์ก่อนเกิดโรคระบาด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะทำให้การวางแผนควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมถึงให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น