กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ "การสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ขนส่ง และการจัดการระบบโลจิสติกส์กรุงเทพมหานครและปริมณฑล" ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย, บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, วิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ ปิ่นเกล้า
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินการศึกษาระบบโลจิสติกส์กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็น "มหานครแห่งเอเชีย" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าของ สกว. ในการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยและพัฒนาด้านวิชาการเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการและการจัดการระบบโลจิสติกส์กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
รศ. ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเริ่มจากกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวง กระจายไปยังเขตจังหวัดปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) รวมถึงหัวเมืองหลักต่าง ๆ ตามภูมิภาค ซึ่งนับว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศ หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญและเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ คือ ปัจจัยทางด้านต้นทุนโลจิสติกส์ โดยต้นทุนค่าขนส่งสินค้ายังคงเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่สุด สาเหตุหลักมาจากปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมถึงขาดการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตจังหวัดปริมณฑลมีแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลถึงระบบโลจิสติกส์ที่ต้องรองรับการไหลของสินค้าที่เพิ่มขึ้นไปด้วย
จากปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยได้วางแผนดำเนินงาน 2 ระยะ ใช้เวลาศึกษาวิจัย 1 ปี โครงการระยะที่ 1 ศึกษาข้อมูลระบบโลจิสติกส์กระบวนการไหลของสินค้า โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง และข้อมูลหมวดสินค้าที่สำคัญที่ส่งผลต่อระบบโลจิสติกส์ในเขต กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงประเมินสภาพปัจจุบันและแนวโน้มในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในเขตเมืองในอนาคต ซึ่งสามารถสรุปผลได้ว่าแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างระบบโลจิสติกส์พื้นฐานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่สำคัญ คือ ควรมีการสนับสนุนการจัดตั้ง"ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า" (City Distribution Centre: CDC) และ"ศูนย์กระจายสินค้าย่อยในเขตเมือง" เพื่อรองรับธุรกิจ E-Commerce ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อส่งเสริมการบริการจัดส่งสินค้าในช่วงสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ส่วน โครงการระยะที่ 2 คณะวิจัยได้นำความรู้และสิ่งที่ค้นพบดังกล่าวมาต่อยอดแนวคิดของการทำให้เกิด CDC ผนวกกับการสร้างแพลตฟอร์มร่วมขน Joint Delivery System (JDS) จะสามารถสร้างระบบเครือข่ายใหม่ในโซ่อุปทานการขนส่งในเขตเมืองและปริมณฑลได้ โดย CDC จะเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ แปรผันตามขนาดชุมชนในเขตเมือง และทำหน้าที่รวบรวมและกระจายสินค้าภายในพื้นที่ ให้สามารถลดการขนส่ง เคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น มีการร่วมขนของผู้ประกอบการ ช่วยให้ลดจำนวนเที่ยวรถในการขนส่งและลดจำนวนรถเที่ยวเปล่า ส่งผลให้ลดมลพิษที่เกิดจากการขนส่งลงได้ นอกจากนี้ CDC ที่มีขนาดเล็กในเมืองยังสามารถใช้รองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของโลจิสติกส์ E-Commerce และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับต่างชาติได้ เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางระบบการจัดการโลจิสติกส์ในภาคการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพในอนาคต และพัฒนาขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลก้าวสู่การเป็น "มหานครแห่งเอเชีย"
โครงการจะนำผลวิจัยไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่ายระบบ และความร่วมมือกันขนส่งสินค้า ผลงานวิจัยชิ้นนี้มิได้เพียงทำให้ระบบโลจิสติกส์ในเขตเมืองมีประสิทธิภาพ แต่ยังสามารถลดจำนวนรถในการขนส่ง ส่งผลให้เกิดการลดมลพิษในเขตเมือง พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอีกด้วย