กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานจากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2562 ถึงปัจจุบัน ทำให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง 31 จังหวัด รวม 142 อำเภอ 391 ตำบล 1,284 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 9,112 หลัง ผู้บาดเจ็บ 14 ราย ผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน พร้อมแนะประชาชนหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและระมัดระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อนในระยะนี้
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2562 ถึงปัจจุบัน ทำให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง 31 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม พิษณุโลก ปทุมธานี ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร สกลนคร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุดรธานี พิจิตร บึงกาฬ สุรินทร์ เชียงใหม่ เลย น่าน หนองคาย ลพบุรี อุบลราชธานี หนองบัวลำภู เพชรบูรณ์ แพร่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ลำปาง อุทัยธานี สุโขทัย ขอนแก่น พะเยา นครพนม ตาก และกาฬสินธุ์ รวม 142 อำเภอ 391 ตำบล 1,284 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 9,112 หลัง ผู้บาดเจ็บ 14 ราย ผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึง จัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ระยะนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อาจเกิดพายุฤดูร้อน ในลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกาง และภาคตะวันออก ปภ.จึงขอฝากเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและระมัดระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง โดยอยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป