กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--มีเดีย พ้อยท์ กรุ๊ป
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผนึกกำลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับสินค้า OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ให้เป็นที่ยอมรับ ได้มาตรฐาน มผช.
จากการที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งเป็นแนวคิดพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่ โดยเน้นการดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน ให้ประชาชนได้ขายสินค้าในชุมชนของตนเอง โดยนำเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม มาแปลงเป็นรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดรายได้กระจายภายในชุมชน แต่ผลิตภัณฑ์ชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดการพัฒนาในด้านคุณภาพและการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นสาเหตุให้ไม่สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคทั่วไปยังขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
ฉะนั้น เพื่อให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนมีคุณภาพมาตรฐาน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน จึงจัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) ภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ขึ้น เพื่อให้สินค้า OTOP ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มของใช้ ของฝาก ของที่ระลึก จำนวน 5,000 ผลิตภัณฑ์ (5,000 ราย) ทั่วประเทศ ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช.
ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขอความร่วมมือให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการต่อยอด โดยนำผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) ที่ได้รับการพัฒนาจากกรมการพัฒนาชุมชน เข้าสู่การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการออกใบขอรับการตรวจประเมินคุณภาพเบื้องต้น (มผช.ป) โดย กรมการพัฒนาชุมชน จะเป็นผู้รวบรวมรายงานผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งส่งเอกสารประกอบการยื่นคำขอที่ถูกต้อง ครบถ้วน ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ดำเนินการพิจารณาออกใบรับคำขอ มผช.ป. และเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งสองหน่วยงานได้เห็นชอบร่วมกันในการทำงานที่ใกล้ชิดทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ โดย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด จะขับเคลื่อนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ได้รับการรับรอง มผช. ต่อไป เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีศักยภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการเชื่อมโยงให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนของไทยไปสู่ตลาดที่กว้างมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ