กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--โน้ตเอเบิ้ลแบงค์คอก
เนื่องในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นเดือน Colon Cancer Month หรือ เดือนที่ทั่วโลกรณรงค์ในเรื่องของมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงภัยของโรค เพราะ มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในมะเร็งยอดฮิตติดอับต้น ๆ จากการสำรวจในประชากรโลกและในประเทศไทยเอง โดยพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งชายและหญิงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และยังพบผู้ป่วยในอัตราที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี เป็นมะเร็งที่นำไปสู่การเสียชีวิตอันดับสองของโรคมะเร็งทั้งหมด
สำหรับสาเหตุเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่ละเลยการดูแลตัวเองในเรื่องของพฤติกรรมการทานอาหาร เช่น ทานเนื้อสัตว์มากเกินไป ทานอาหารที่มีไขมันสูง และ ไม่ทานหรือทานผักผลไม้ที่มีกากใยน้อย ท้องผูก ประกอบกับละเลยในการตรวจคัดกรองโรค (Screening Colorectal Cancer)
วิธีการตรวจคัดกรองโรค (Screening Colorectal Cancer) จะทำการตรวจยีนและส่องกล้อง ทั้งเพศชายและเพศหญิง หากละเลยจะทำให้ตรวจพบในระยะท้าย ๆ ที่มีการแสดงอาการของโรคแล้ว ดังนั้น หากเราหันมาสนใจดูแลสุขภาพกันเพิ่มขึ้นโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพแบบตรงจุดเสี่ยงจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรค หรือหากเป็นโรค เมื่อได้รับการตรวจพบโรคแต่เนิ่น ๆ จะสามารถเพิ่มโอกาสให้รักษาหายได้
นพ.ธรณัส กระต่ายทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร โรคตับ และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย กล่าวว่า
" ปัจจุบันเรายังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นร่วมกันมากกว่าหนึ่งปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยจากพันธุกรรม (genetic) ร่วมกับปัจจัยแวดล้อมภายนอก (Epigenetic) ได้แก่ การรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยน้อยหรือไม่ทานเลย ทานเนื้อสัตว์แปรรูปในปริมาณมาก (ไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น) ทานเนื้อแดงหรือสัตว์ติดมันและในปริมาณมาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับแบคทีเรียภายในในลำไส้สร้างสาร Trimethylamine N-oxide (TMAO)โดยเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) ซึ่งพบสูงมากใน คนที่รับประทานเนื้อแดง คนที่เป็นโรคอ้วน ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดในครอบครัว
สำหรับผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อ ลำไส้ใหญ่บางชนิด จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่พบอาการผิดปกติในระยะแรก เพราะในระยะแรกมักจะไม่มีอาการแสดงที่จำเพาะ แต่ก็อาจมีอาการที่บ่งบอกถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เช่น ขับถ่ายผิดปกติท้องผูกสลับท้องเสีย มีเลือดออกทางทวาร อุจจาระปนเลือด หรือมีสีคล้ำ อุจจาระมีลักษณะเป็นเส้นเล็กลง อาจมีอาการปวดท้อง เช่น ถ้าพบก้อนเนื้อโตด้านซ้ายของลำไส้ใหญ่ จะมีอาการลำไส้อุดตันมีอาการปวดเหมือนลำไส้ถูกบิด ถ้าพบก้อนเนื้อโตด้านหน้า จะปวดท้องคล้ายคนเป็นไส้ติ่ง"
นพ.ธรณัส กระต่ายทอง ยังให้คำแนะนำอีกว่า "การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ เมื่ออายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง (colonoscopy) อย่างน้อยทุกๆ 5-10 ปี ตามคำแนะนำสำหรับคนปกติ แต่ถ้าหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งบางชนิดจำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยการส่องกล้องช่วงอายุเร็วกว่าปกติ ตลอดจนสามารถตรวจคัดกรองเพิ่มเติมเพื่อหาความเสี่ยงมะเร็งทางพันธุกรรมได้จากการตรวจยีนเพียงการเก็บเลือด 6 มิลลิลิตร และส่งห้องปฏิบัติการทางพันธุศาสตร์ โดยใช้เทคโนโลยี "NGS" ที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และ ปลอดภัย ได้รับมาตรฐานจากประเทศสหรัฐอเมริกา หากพบการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์แนะนำเรื่องความเหมาะสมของการตรวจคัดกรองอื่น ๆ เพิ่มเติม และอาจต้องตรวจด้วยการส่องกล้องเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 50 ปี ร่วมกับลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหาร อีกทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกมีประสิทธิภาพสูงในแง่ของการป้องกันและรักษา ซึ่งถือเป็นมาตรฐานมากกว่าวิธีอื่นๆ
ในปัจจุบันนี้ เรามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ส่งผลให้การตรวจพบโรคทำได้เร็วขึ้น และช่วยให้รักษาเพิ่มโอกาสรักษาให้หายได้ดียิ่งขึ้น"