กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--รพ.จิตเวชนครราชสีมา
รพ.จิตเวชนครราชสีมา เผยผู้ต้องขังมีปัญหาสุขภาพจิตและป่วยทางจิตเวชสูงถึงร้อยละ 46 สูงกว่าประชาชนทั่วไป 3 เท่าตัว เร่งพัฒนาระบบบริการดูแลในเรือนจำ 12 แห่ง ใน 4 จังหวัดอีสานใต้ ต่อเนื่องไปจนถึงหลังพ้นโทษ ป้องกันปัญหาขาดยา ฆ่าตัวตายและก่อคดีซ้ำ โดยพัฒนาโปรแกรมการส่งต่อหลังพ้นโทษ และเพิ่มชุดกรองความเสี่ยงฆ่าตัวตายในกลุ่มป่วยจิตเภท พร้อมเตรียมเปิดระบบการแพทย์ทางไกลรักษาระหว่างรพ.จิตเวชกับเรือนจำ คาดเริ่มใช้ในอีก 2 เดือน
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาได้เร่งพัฒนาระบบบริการประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตและป่วยทางจิตเวชครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ต้องโทษคดีความ ซึ่งถือเป็นวิกฤติของชีวิตประการหนึ่ง ทำให้มีปัญหาการปรับตัวเกิดความเครียดได้ง่ายและสูงกว่าคนทั่วไป โดยผลการศึกษาของกรมสุขภาพจิต พบว่าผู้ต้องขังมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชร้อยละ 46 สูงกว่าประชาชนทั่วไป 3 เท่าตัว พบในผู้ชายร้อยละ 47 ผู้หญิงร้อยละ 35 โรคที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ติดเหล้าและสารเสพติดร้อยละ 30 รองลงมาโรคซึมเศร้าร้อยละ 16 และความเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 16 โดยมีผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคจิตเวช 2 โรคร่วมกันประมาณ 1 ใ น 4 เช่น โรคจากติดสารเสพติดกับโรคจิตเภท เป็นต้น ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ล่าสุดในปลายปี2561 มีผู้ต้องขังป่วยจิตเวช 4,867 คน จากผู้ต้องขังที่มีประมาณ 300,000 คนในเรือนจำ 142 แห่งทั่วประเทศ
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า ในส่วนของเรือนจำที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งอยู่ในความดูแลของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ 4 จังหวัด ได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ มีทั้งหมด 12 แห่ง มีผู้ต้องขังรวม 32,129 คน เป็นชาย25,225 คน ที่เหลือเป็นหญิง โดยร้อยละ 51 อยู่ในเรือนจำ 6 แห่ง ในจ.นครราชสีมา ที่ผ่านมาได้จัดระบบบริการการตรวจคัดกรองผู้ต้องหาและผู้ต้องโทษ เพื่อประเมินปัญหาสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิตเวช เน้นพิเศษ 6 กลุ่ม เช่น ผู้ต้องขังเข้าใหม่ ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ หลังคลอด ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ 6 เดือน เป็นต้น โดยจัดระบบบริการแบบคู่แฝด ระหว่าง 1เรือนจำกับ 1 รพ.จังหวัดหรือรพ.ชุมชนหรือรพ.จิตเวช โดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้จัดหน่วยโมบาย (Mobile Hospital in Prison) มีจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช เข้าไปดูแลติดตามเยี่ยมอาการผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำ เช่นที่เรือนจำกลางนครราชสีมา ซึ่งมีผู้ป่วยจิตเวชประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคจิตเภท และโรคซึมเศร้า และให้ความรู้บุคลากรในเรือนจำอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปี 2562 นี้ จะเน้นหนักเรื่องการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำให้ต่อเนื่องเหมือนผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป เพื่อป้องกัน 3 ปัญหาหลัก คือการป่วยซ้ำจากขาดยา การฆ่าตัวตาย การก่อคดีซ้ำจากอาการป่วยทางจิตเวช รวมทั้งการปกป้องสิทธิ์ของผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวช เริ่มตั้งแต่การเข้าเรือนจำวันแรก ไปจนถึงหลังพ้นโทษกลับไปอยู่ชุมชน โดยพัฒนา 4 ระบบหลัก ประกอบด้วย 1. การจัดทำฐานข้อมูล ขึ้นทะเบียนผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตเวชทุกคน เพื่อการติดตามต่อเนื่องจนกระทั่งอาการป่วยหายขาด 2.การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยกลับสู่ชุมชน โดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้ร่วมกับรพ.สุรินทร์พัฒนาโปรแกรมไทยซีโอซี(Thai Continuous of Care : Thai CoC)ใช้สำหรับส่งต่อผู้ต้องขังที่พ้นโทษด้วยระบบออนไลน์และรายงานผลแบบปัจจุบันหรือเรียลไทม์ เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเรือนจำกับโรงพยาบาลที่เป็นภูมิลำเนาผู้ป่วยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งจะเริ่มใช้ในเรือนจำ 12 แห่งในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ทั้ง4 จังหวัด จากนั้นจะประเมินผลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้ดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชและพ้นโทษทั่วประเทศได้ด้วย
3. เพิ่มการตรวจคัดกรองผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย เพิ่มจากโรคซึมเศร้าอีก 1 โรคคือโรคจิตเภท ซึ่งเป็นโรคทางจิตที่พบมากอันดับ 1 มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายจากอาการป่วยทางจิต ประสาทหลอนของตัวเอง เช่น มีคนสั่งให้ฆ่าตัวตาย พบได้ร้อยละ 20 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ
มาตรการสุดท้ายคือการจัดระบบการปรึกษา การรักษาด้วยการแพทย์ระบบทางไกลหรือเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ระหว่างจิตแพทย์ของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กับฝ่ายการแพทย์ของเรือนจำทั้ง 12 แห่ง สามารถให้การรักษาผู้ต้องขังที่อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล คาดว่าจะเปิดให้บริการจริงในเดือนมิถุนายนนี้ โดยได้ประชุมชี้แจง บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เรือนจำทั้ง 12 แห่ง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำเขตสุขภาพที่ 9 แล้ว มั่นใจว่าจะทำให้อัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและจิตเวชของผู้ต้องขังในเรือนจำ และมีอัตราการดูแลต่อเนื่องเมื่อพ้นโทษ บรรลุเป้าหมายในปี2562 คือร้อยละ 90 นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว