กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 71.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่70.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่63.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 81.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 83.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
-ความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบโลกจะชะงักงันจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา โดย Reuters ประเมินปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ในเดือน เม.ย. 62 ลดลงอยู่ต่ำกว่าระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นไปตามเป้าหมายมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และ OPEC รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเวเนซุเอลา เดือน มี.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 460,000บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 960,000 บาร์เรลต่อวัน
-สถานการณ์การเมืองในประเทศลิเบียตึงเครียด โดยกองกำลัง Libyan National Army (LNA) ของนายพล Khalifa Haftar ซึ่งประกาศตนเป็นรัฐบาลอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลิเบีย เคลื่อนกองกำลังเข้ายึดเมืองหลวง Tripoli ของรัฐบาลที่สหประชาติ (UN) รับรอง ทั้งนี้ นาย Ghassan Salame ผู้แทนของ UN กล่าวว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการปฏิวัติ มิใช่ต่อต้านการก่อการร้าย ล่าสุดฝ่าย LNA ยังไม่สามารถยึดกรุง Tripoli ได้ หากการสู้รบยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบซึ่งปัจจุบันผลิตที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
-Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบีย ในเดือน ก.พ. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 280,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 6.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน
-สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.2% มาอยู่ที่ 12.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเฉลี่ยไตรมาสที่ 1/62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.4% มาอยู่ที่ 12.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน
-Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 เม.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 455.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล
-Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 เม.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น มาอยู่ที่ 825 แท่น
-นาย Steven Mnuchin รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความก้าวหน้ามาก ภายใต้ข้อตกลงการค้า ทั้งนี้สหรัฐฯ และจีนจะจัดตั้งคณะกรรมการติดตามข้อตกลงทางการค้าเพื่อให้คู่สัญญาปฏิบัติตามข้อตกลง
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
-EIA คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิต Shale Oil จำนวน 7 แห่งในสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 62 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 800,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 8.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นสูงสุดประวัติการณ์ จากแหล่ง Permian Basinและ New Mexico ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 42,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 4.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
-รัสเซียไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันที่รัสเซียระบุจะลดปริมาณการผลิตลง 228,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. 62 แต่กลับลดได้เพียง 130,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 62 ทั้งนี้ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน มีกำหนดประชุม JMMC ในเดือน พ.ค. 62 ที่เมือง Jeddah ซาอุดิอาระเบียเพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายเวลามาตรการลดปริมาณการผลิตที่จะสิ้นสุดเดือน มิ.ย. นี้ และจะมีการประชุมกลุ่ม OPEC และกลุ่มนอก OPEC ร่วมกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 25-26 มิ.ย. 62 ที่กรุงเวียนนา
-Exxon Mobil Corp. เปิดเผยว่าทางบริษัทได้ร่วมกับ Hess Corp. และ China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) สำรวจพบน้ำมันที่หลุม Yellowtail-1 ในแหล่ง Turbot ชายฝั่งประเทศ Guyana เพิ่มเติมจากเดิมที่สำรวจพบ 5,500 ล้านบาร์เรลปริมาณเทียบเท่าน้ำมันดิบ
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 61 หลังมีรายงานจากหนังสือพิมพ์ Washington Postว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านทั้งหมดซึ่ง Washington Post คาดว่านาย Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ จะประกาศยุติการผ่อนผันให้กับประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 2พ.ค. 62 (ในเดือน พ.ย. 61 ผู้นำเข้าน้ำดิบจากอิหร่านจำนวนทั้งหมด 8 ประเทศ ได้รับการผ่อนผันจากสหรัฐฯ ให้สามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านต่อไปอีก 6 เดือน และการผ่อนผันดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือน พ.ค. นี้) ความร้อนแรงของราคาน้ำมัน ณ ปัจจุบันได้รับแรงส่งจากอุปสงค์น้ำมันที่ยังเติบโตได้ดีและปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้นจากสถานการณ์สงครามกลางเมืองในลิเบีย มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน และเวเนซุเอลา ที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดกลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะการลงทุน (Net Long Position) สัญญาน้ำมันดิบ WTI มาอยู่ที่ 302,739 สัญญา สูงที่สุดในรอบ 6 เดือน ทางเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.0-74.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 61.0-65.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.0-73.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความต้องการน้ำมันเบนซินของอินโดนีเซีย, ปากีสถาน และคูเวต รวมทั้งสหรัฐฯ ที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูขับขี่ ในเดือน พ.ค. 62 ประกอบกับปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนมีแนวโน้มลดลง เพราะรัฐบาลอนุมัติให้โรงกลั่นที่ได้รับโควตาส่งออกน้ำมันเบนซินไปส่งออกน้ำมันดีเซลแทน อีกทั้งด้านปริมาณสำรอง EIAรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 12 เม.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 228 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน อย่างไรก็ตาม International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.93 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 19.67 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 13 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 70,000 บาร์เรล อยู่ที่ 9.94 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.0-83.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก Platts รายงานโรงกลั่น Valero (กำลังการกลั่น 145,000บาร์เรลต่อวัน) ในมลรัฐ California ของสหรัฐฯ ปิดซ่อมแซมเนื่องจากปัญหาทางเทคนิค และ Saigon Petro ของเวียดนามซื้อน้ำมันดีเซล 0.05% S ปริมาณ 75,000 บาร์เรล ส่งมอบ 17 – 21 เม.ย. 62 ประกอบกับผู้ค้าน้ำมันส่งออกน้ำมันดีเซล ปริมาณ 4 ล้านบาร์เรล โดยเรือ VLCC ที่ต่อใหม่ 2 ลำ จากเกาหลีใต้สู่ยุโรปและแอฟริกาตะวันตก ด้านปริมาณสำรอง PAJรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 13 เม.ย.62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 360,000 บาร์เรล อยู่ที่ 8.43 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Pakistan State Oil (PSO) ประกาศยกเลิกการประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05% Sปริมาณ 800,000 บาร์เรล ส่งมอบ 1-15 พ.ค. 62 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.69 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.82 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.0-85.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล