กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 26 – 28 เมษายน 2562 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย จัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจสอบและปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณาในพื้นที่สาธารณะ และต้นไม้ริมข้างทางให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จะเกิดพายุฤดูร้อน โดยมีลักษณะอากาศของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรก ลูกเห็บตก และฟ้าผ่าบางพื้นที่ ช่วงระหว่างวันที่ 26 – 28 เมษายน 2562 โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะเริ่มมีผลกระทบในวันที่ 26 เมษายน 2562 ส่วนภาคเหนือ และภาคกลาง จะได้รับผลกระทบในวันถัดไป ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 26 – 28 เมษายน 2562 โดยจัดเจ้าหน้าที่มิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบสิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีสถานการณ์รุนแรงได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
นายชยพล กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ ตลอดจนห้ามเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้ม เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป