กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ คาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ ปลายปี 2551 จะอยู่ที่ 958 จุด ปรับลดลงมาจากที่คาดไว้เดิมเมื่อ พย.ที่ผ่านมาซึ่งเคยคาดการณ์ไว้ที่ 1,030 จุด และคาดการณ์ใหม่ครั้งนี้ ยังคาดไปถึงจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ 669 จุด ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมฯ เกี่ยวกับผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ล่าสุด เรื่องแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นสำหรับปีนี้ โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน จะมีกำไรสุทธิต่อหุ้นเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 18.9 นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจน่าลงทุนที่นักวิเคราะห์แนะนำคือ ธนาคาร พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์
สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้สำรวจความเห็นนักวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม - ธันวาคม 2551 ในประเด็นเกี่ยวกับปัจจัยที่นักวิเคราะห์ใช้เป็นสมมติฐานหลักในการทำบทวิเคราะห์สำหรับปี 2551 ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม ต่อเศรษฐกิจ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้ ข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลใหม่ แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน คาดการณ์อัตราการขยายตัวของกำไรต่อหุ้นของบริษัทในกลุ่มธุรกิจสำคัญ กลุ่มธุรกิจและหุ้นที่แนะนำให้ลงทุน และคำแนะนำให้นักลงทุน โดยมีสำนักวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งไทยและบริษัทต่างชาติแสดงความเห็นรวม 21 แห่ง
ผลสำรวจแสดงให้เห็นสมมติฐานหลักที่นักวิเคราะห์ใช้ประกอบการทำบทวิเคราะห์ ที่เป็นปัจจัยบวก ได้แก่ การเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่และเร่งรัดการใช้จ่าย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงและอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีการขยายตัว
สมมติฐานหลักที่เป็นปัจจัยลบ ที่นักวิเคราะห์ใช้พิจารณา คือ ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวและมีแนวโน้มถดถอย ราคาน้ำมันและถ่านหินที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาซับไพร์มที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองของไทย
นักวิเคราะห์มีความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและผลการดำเนินงานของบริษัท จดทะเบียน ตลอดจนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ หรือคิดเป็นร้อยละ 76 เชื่อว่าปัญหาซับไพร์มส่งผลกระทบรุนแรงในระดับปานกลาง นักวิเคราะห์ร้อยละ 19 เชื่อว่ามีผลกระทบรุนแรงมาก และร้อยละ 5 เชื่อว่ารุนแรงน้อย โดยส่วนใหญ่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาซับไพร์มไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับไทย แต่มีผลให้เงินทุนไหลออกจากแรงเทขายหุ้นของต่างชาติ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวบางส่วนน่าจะสะท้อนและรับรู้ในตลาดหุ้นแล้ว และเชื่อว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังเห็นว่า การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ มีสัดส่วนที่ลดลง จึงคาดว่าผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงไม่น่าจะมากนัก แต่อาจทำให้การส่งออกเติบโตช้าลงได้ในช่วงต้น
มาตรการสำคัญที่นักวิเคราะห์เสนอแนะให้รัฐบาลใหม่ ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม อันดับแรก มีผู้ตอบ ร้อยละ 62 คือ การผลักดันและเร่งรัดการลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และขนส่งมวลชน อันดับที่สองมีผู้ตอบร้อยละ 48 คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและนักลงทุน เช่น ผลักดันมาตรการทางด้านลดภาษีบริษัทจดทะเบียนและส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น อันดับที่สาม คือ มาตรการด้านอัตราแลกเปลี่ยน มีผู้ตอบ ร้อยละ 19 โดยนักวิเคราะห์แนะให้ดำเนินมาตรการสร้างเสถียรภาพให้ค่าเงินบาท และลดการแทรกแซงค่าเงิน
นักวิเคราะห์ยังเสนอแนะให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนให้เข้มแข็ง โดยควรมีมาตรการจูงใจให้บริษัท ขนาดใหญ่ พื้นฐานดี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี เป็นต้น ซึ่งมีผู้ตอบร้อยละ 29 ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 24 ยังเสนอแนะให้มีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% และรัฐบาลควรส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อขยายฐานนักลงทุนให้ครอบคลุมถึงกลุ่มใหม่ เช่น ผู้มีเงินออม บริษัทประกัน เป็นต้น ซึ่งมีผู้ตอบร้อยละ 19
จากการสำรวจของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ พบว่า นักวิเคราะห์มีการปรับตัวเลขคาดการณ์ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET Index ลดลงจากการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาตามความคาดหมาย โดยนักวิเคราะห์คาดว่า SET Index ณ สิ้นปี 2551 จะอยู่ที่เฉลี่ย 958 จุด จากเดิมคาดไว้ 1,030 จุด โดยตัวเลขสูงสุดที่มีผู้ตอบยังคงเท่าเดิมที่ 1,200 จุด และมีผู้ตอบตัวเลขสิ้นปีไว้ต่ำสุดที่ 870 จุด นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังประเมินว่าจุดต่ำสุดของ SET Index ในปีนี้ จะอยู่ที่เฉลี่ย 669 จุด
ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจสำหรับทั้งปี 2551 ที่สมาคมนักวิเคราะห์ฯ สำรวจในครั้งนี้ คือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth พบว่า ตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 4.9% ที่สำรวจครั้งที่แล้ว สำหรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หรือ EPS Growth นักวิเคราะห์คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18.9% ซึ่งสูงขึ้นจากที่คาดไว้เดิมที่ 18.4%
ในส่วนของตัวเลขสำคัญ ณ สิ้นปี 2551 นักวิเคราะห์คาดว่า อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สรอ. ณ สิ้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 32.2 บาท และอัตราดอกเบี้ย RP 1 วัน ในปลายปี 2551 นักวิเคราะห์คาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.1%
ตารางที่ 1 - ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ
ค่าเฉลี่ย ตัวเลขของ ตัวเลขของ จำนวนสำนักวิจัยที่ตอบ
ผู้คาดการณ์สูงสุด ผู้คาดการณ์ต่ำสุด
สำรวจ ณ สำรวจ ณ สำรวจ ณ สำรวจ ณ สำรวจ ณ สำรวจ ณ สำรวจ ณ สำรวจ ณ
28 พย.50 29 มค.51 28 พย.50 29 มค.51 28 พย.50 29 มค.51 28 พย.50 29 มค.51
SET Index
- ณ สิ้นปี 51 1,030 958 1,200 1,200 900 870 20 21
- จุดต่ำสุดของปี 51 - 669 - 700 - 600 - 20
รวมทั้งปี 2551
GDP Growth 4.9 4.8 5.6 6.1 4.5 4.4 18 21
4
EPS Growth 18.4 18.9 35 33 4.5 4.5 19 21
ณ สิ้นปี2551
FOREX Bht:US$ 32.9 32.2 35 35 31 31 18 20
ดอกเบี้ยRP 1วัน 3.4 3.1 4.1 4.2 2.5 2.7 18 21
ประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ประเมินจากอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของกลุ่มธุรกิจสำคัญ จากผลที่ได้จากแบบสอบถาม พบว่า กลุ่มธนาคารยังคงมีอัตราการเติบโตสูงสุด โดยมีค่าเฉลี่ย EPS Growth ที่ร้อยละ 171.0 อันดับสองคือ อสังหาริมทรัพย์ เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 15.1 อันดับต่อมาคือ กลุ่มปิโตรเคมี เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 13.7
ตารางที่ 2 - EPS Growth (%) ปี 2551 แยกตามกลุ่มธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจ ค่าเฉลี่ย
สำรวจครั้งนี้ สำรวจครั้งก่อน
ธนาคาร 171.0 126.4
อสังหาริมทรัพย์ 15.1 16.6
ปิโตรเคมี 13.7 13.8
พลังงาน 11.2 11.2
เดินเรือ 3.6 8.1
วัสดุก่อสร้าง -3.5 -3.4
กลุ่มธุรกิจที่น่าลงทุนต่อไป ในปีนี้ ที่นักวิเคราะห์แนะนำเป็นอันดับต้น ๆ คือ ธนาคาร พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เชื่อว่ากลุ่มธนาคารจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ช่วยให้ผลประกอบการเติบโตสูงขึ้น และจากการตั้งสำรองที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ พลังงาน จะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ช่วยให้ผลประกอบการแข็งแกร่ง และกลุ่ม อสังหาริมทรัพย์ จะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ
สำหรับหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำให้ลงทุนตรงกันหลายสำนักวิจัย ได้แก่ BANPU, BAY, KBANK, PTT, SCB เป็นต้น (เรียงตามลำดับตัวอักษร) นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมีคำแนะนำการลงทุน คือ ควรระมัดระวังในการลงทุนเนื่องจากตลาดมีความผันผวนสูง โดยสำหรับการลงทุนระยะยาว ให้ทยอยสะสมหุ้นเมื่ออ่อนตัวลง เน้นลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเติบโตของกำไรที่ดี มีเงินปันผลสูง และมีปัจจัยพื้นฐานดี นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก อาจลงทุนระยะสั้นได้ แต่ไม่ควรมากกว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ต และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง
แหล่งข้อมูล...สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โทร. 02-229-2329, 02-229-2355-6 อีเมล์ jirawan@saa-thai.org