กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--บีโอไอ
รองฯ โฆสิต ฝากรัฐบาลใหม่เดินหน้าสร้างฐานความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการไทย มั่นใจธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพในอาเซียนได้ เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความพร้อมเรื่องบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และความโดดเด่นทางด้านอาหาร การแพทย์ ยา
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมสัมมนาเรื่อง “การส่งเสริมการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ” ในวันนี้ ว่า ที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และได้ใช้ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของไทยเป็นวัตถุดิบ แต่ในวันนี้การลงทุนในประเทศไทยต้องเปลี่ยนไปสู่การสร้างฐานความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการไทย
โดยธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เพราะมีความหลากหลายทางด้านชีวภาพ มีความพร้อมเรื่องบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และเป็น 1 ใน 5 ประเทศของโลกที่ส่งออกอาหารได้มากที่สุด มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้าใช้บริการทางการแพทย์ไทยปีละกว่า 1 ล้านคน มีฐานทรัพยากรที่หลากหลายและข้อมูลชีวภาพที่เป็นประโยชน์ทั้งต่ออุตสาหกรรมยา และอาหารเสริมซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยมีการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น ปรับปรุงพันธุ์พืช-สัตว์เศรษฐกิจให้มีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ขยายพื้นที่และมีคุณภาพตรงกับความต้องการตลาด การพัฒนาชุดตรวจสำเร็จรูปทั้งในด้านเกษตร อาหาร วัคซีน สุขภาพ รวมถึงสิ่งแวดล้อม
วันนี้ ประเทศไทยมีธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงประมาณ 30 บริษัท และมีธุรกิจดั้งเดิมอีกกว่า 40 บริษัทที่ลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการร่วมลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาระหว่างหน่วยงานของไทยและบริษัทชั้นนำของโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาของเทคโนโลยีชีวภาพและให้ธุรกิจของไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ และพร้อมที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และศูนย์กลางในการให้บริการชีวภาพในระดับอาเซียนได้
ด้านนายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นกิจการที่บีโอไอให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเปิดให้ส่งเสริมมาหลายปีแล้ว แต่ในปี 2550 ได้ประกาศนโยบายส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการส่งเสริม ซึ่งครอบคลุมกิจการ 4 ประเภท คือ 1. กิจการวิจัยและพัฒนา และอุตสาหกรรมการผลิตเมล็ดพันธุ์ หรือการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ 2.กิจการวิจัยและพัฒนา และอุตสาหกรรมการผลิตเวชภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ 3. กิจการวิจัยและพัฒนา และอุตสาหกรรมการผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การเกษตร อาหารและสิ่งแวดล้อม 4. กิจการวิจัยพัฒนา และอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ ในการผลิตสารชีวโมเลกุล สารออกฤทธิ์ชีวภาพ
ตัวอย่างประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมจากบีโอไอ คือ การผลิตสารปรุงแต่งในอาหาร การผลิตสาร ให้ความหวานที่ไม่มีกลูโคส กิจการวิจัยและพัฒนาและบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์
สำหรับการจัดงานในวันนี้ บีโอไอต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการต่อยอดธุรกิจส่วนใหญ่ของคนไทย อาทิ เกษตร เกษตรแปรรู อาหาร ยา เพื่อก้าวไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ จึงร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) จัดการประชุม เพื่อสร้างโอกาสและช่องทางในการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพอย่างเต็มที่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มาให้ความรู้เรื่องเพื่อการเตรียมตัวเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ อาทิ แหล่งเงินทุน การระดมทุน การบริหารจัดการ การวิจัยและพัฒนา ช่องทางการตลาด และการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบีโอไอ
ด้านนายศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ ซึ่ง สวทช.ได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนอย่างเต็มที่ อาทิ ได้ก่อสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เฟสสอง เป็นส่วนขยายของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ที่คลองหนึ่ง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะเปิดให้ภาคธุรกิจได้เข้าใช้ได้ประมาณปี 2553
ในส่วนของกำลังคน สวทช. มีทรัพยากรบุคคล 2,325 คน เป็นกำลังคนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพประมาณ 1 ใน 4 ที่สามารถช่วยให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชน ในการพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา หรือใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคการผลิต การเสาะหาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การฝึกอบรม การบ่มเพาะธุรกิจ และงานบริการต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ทดสอบ การจดทะเบียนและการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น สวทช. มีรูปแบบการช่วยให้งานวิจัยสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้หลายแนวทาง เช่น การร่วมวิจัย การจ้างวิจัย การซื้อขาย/ให้เช่าใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการฝึกอบรม
ด้านน.พ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า ที่ผ่านมา TCELS ได้ดำเนินการสนับสนุนธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ บริการ และการลงทุน 2.เป็นผู้แสวงหาแหล่งทุน หรือริเริ่มจัดตั้งกองทุนให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ 3.เป็นผู้แสวงหาแนวทาง (Path Finder) และเชื่อมโยงส่วนขาด (Missing Link) ให้ภาครัฐ และเอกชน ( Public Private Partnership)ได้เข้ามาร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ และการลงทุน 4. เป็นผู้จับคู่ธุรกิจ (Match Maker) ด้านชีววิทยาศาสตร์
สำหรับปี 2551 นี้ TCELS จะจัดทำแผนงานเพื่อพัฒนาธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ในด้านต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาการบริการสนองยุทธศาสตร์ Medical Hub การสนับสนุนให้เกิดบริษัทด้านชีววิทยาศาสตร์ในประเทศ การจัดตั้งกองทุนร่วมทุนเทคโนโลยีชีวภาพ (Venture Capital Fund ) และการจัดงาน BIO ASIA 2008 & จับคู่ธุรกิจ (Match Maker)