กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลออนไลน์ (Web Conference) แก่ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งส่วนในกลางและภูมิภาค เมื่อ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การประชุมทางไกลในวันนี้ ได้มอบหมายภารกิจและหน้าที่ในการปฏิบัติราชการแก่บุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ครอบคลุมกระบวนการทำเกษตรกรรมแบบครบวงจร โดยมีวัตถุประสงค์ให้หน่วยงานและบุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ สามารถทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรได้ครบวงจรของการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตตลอดจนถึงการจำหน่ายผลผลิต ซึ่งได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ จัดทำคำสั่งมอบหมายภารกิจและหน้าที่ให้หน่วยงานและบุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปปฏิบัติ ดังนี้
1. ระดับจังหวัดหรือในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ให้ใช้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.พ.ก.) เป็นองค์กรหลักเพื่อทำหน้าที่บูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และระหว่างหน่วยงานภาครัฐรวมทั้งภาคเอกชนเช่นเดิม แต่ให้มีการมอบหมายภารกิจเพิ่มเติม จำนวน 2 ฝ่าย คือ 1) ฝ่ายวางแผน ส่งเสริม สนับสนุน และรายงานสถานการณ์การผลิตทางการเกษตร และ 2) ฝ่ายประสานงานด้านการตลาด ทั้งนี้ ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทั้ง 12 เขต ทำหน้าที่เป็นหน่วยวิเคราะห์ พยากรณ์ และสนับสนุนข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น สำหรับใช้ประกอบการวางแผนการผลิต การติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาด และการจำหน่ายผลผลิต
2. ในส่วนกลางให้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าในฐานะหัวหน้าหน่วยงานระดับกระทรวงและกรม ได้ปรับโครงสร้างการมอบหมายภารกิจและหน้าที่ให้แก่บุคลากรในสังกัด ให้สอดคล้องกับโครงสร้างภารกิจในการทางานในพื้นที่ ตามข้อ 1 โดยให้กำหนดภารกิจและหน้าที่ของหน่วยงานและบุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ออกเป็น 2 กลุ่มงาน คือ 1) กลุ่มงานการวางแผน ส่งเสริม สนับสนุน และรายงานสถานการณ์การผลิตทางการเกษตร ทำหน้าที่อำนวยการวางแผน ส่งเสริม สนับสนุน และรายงานสถานการณ์การผลิต (Supply) ของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการ (Demand)ของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ และ 2) กลุ่มงานการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ให้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าในฐานะหัวหน้าหน่วยงานระดับกระทรวงและกรม ดำเนินการวางแผนเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานพร้อมการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในพื้นที่ต่าง ๆ และพัฒนาตัวชี้วัดความสำเร็จที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่พร้อมระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบในภารกิจและหน้าที่นั้น ๆ
3. ขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้รับรายงานว่ามีผู้ว่าราชการจังหวัดได้ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่อยู่ในพื้นที่ ริเริ่มดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรและหรือกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ได้จำหน่ายผลผลิตหรือมีช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หรือมีการลงทุนร่วมกันระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับภาคเอกชนทั้งในพื้นที่และส่วนกลางบ้างแล้ว เช่น กลุ่มโรงพยาบาลจังหวัด/อำเภอ ได้ทำสัญญารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรไปปรุงอาหารให้ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล กลุ่มห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) ลงทุนออกค่าใช้จ่ายในการสร้างห้องเย็นถนอมผลผลิตให้เกษตรกร และทำสัญญารับซื้อพืชและผักจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ในราคาที่เกษตรกรพอใจ เป็นต้น ดังนั้น จึงให้ปลัดกระทรวง
เกษตรฯ และอธิบดีหรือผู้บริหารที่มีตำแหน่งเทียบเท่าได้รวบรวมผลงานตามโครงการดังกล่าวมาศึกษาเพื่อนำไปขยายผลดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เป็นเดือนและปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยที่จะได้มีพระราชพิธี บรมราชาภิเษกและในเดือนเดียวกันนี้ จะมีพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชประเพณีสืบเนื่องมาตั้งแต่โบราณกาล ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนในประเทศไทยมีวิถีการดำเนินชีวิตที่มีรากฐานมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้น จึงขอให้ข้าราชการและบุคลากรทุกหน่วยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งใจและทุ่มเท สติ ปัญญา กำลังความสามารถ เพื่อร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจใหม่ที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้ ให้เกิดผลสำเร็จเป็นประโยชน์สุขแก่เกษตรกรและประเทศชาติ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นไปโดยพร้อมเพรียงกัน
สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่ผ่านมา ได้ปรับปรุงการบริหารราชการเพื่อให้มีกลไกในการรับผิดชอบงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่ โดยได้มีคำสั่งแต่งตั้งหัวหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกหน่วยที่มีฐานะเป็นส่วนราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการส่วนกลาง ที่มีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเป็นคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.พ.ก.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยมีภารกิจรับผิดชอบงานด้านการเกษตรตามภารกิจและหน้าที่ (Function) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และงานนโยบายของรัฐบาล (Agenda) รวมทั้งงานการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ (Area Based) ประกอบกับรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ นำแนวทาง "การตลาดนาการผลิต" มาใช้ในการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรกรรม ต่อมากระทรวงเกษตรฯ ได้ริเริ่มจัดทำโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือพืชอื่นหลังฤดูทำนา ปี 2561/2562 เพื่อลดพื้นที่ทำนาปรัง โดยมีการประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาร่วมโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหรือชาวนา ตั้งแต่การเริ่มต้นการผลิตหรือลงมือปลูกข้าวโพดจนถึงการจำหน่ายข้าวโพดหรือผลผลิต เช่น การขึ้นทะเบียนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ การจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด การปรับปรุงคุณภาพดิน การบริหารจัดการน้ำ การประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เพื่อสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร การประสานภาคเอกชนให้เข้ามารับซื้อผลผลิตข้าวโพดผ่านสหกรณ์การเกษตร ตลอดจนการประกันภัยพืชผล จนส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ย 3,000 – 4,000 บาท/ไร่ สูงกว่าการทำนาปรัง จึงเห็นได้ว่าการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรอย่างครบวงจรของการประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องการตลาดด้วยนั้น จะทำให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอนซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน โดยรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากมาช่วยเหลือในรูปแบบโครงการต่าง ๆ ให้เป็นภาระงบประมาณของประเทศ.