กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมจัดกิจกรรม Business Networking Dinner หารือกับบริษัทจีนรายใหญ่ 14 ราย ในช่วงเดียวกับการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ( Belt and Road Forum of International Cooperation ) (BRF) ครั้งที่ 2 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นำโดยนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ( Belt and Road Forum of International Cooperation ) (BRF) ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 25 - 27 เมษายน 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมบรรยาย ในหัวข้อ"Thailand's Supportive Measures to Promote the Development of Industrial Parks, as Well as Suggestions for Strengthening Cooperation between the Two Countries in Industrial Parks" ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการชี้แจงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยแก่นักลงทุนจีน ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการดึงมาลงทุนในประเทศไทย
สำหรับการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศ"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Forum of International Cooperation)(BRF) มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีผู้นำจาก 38 ประเทศเข้าร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของประเทศที่อยู่ตามแนวเส้นทางสายไหม ในการส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติ ซึ่งระหว่างการเยือน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้จัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนพบหารือและสร้างเครือข่ายกับบริษัทเป้าหมายรายใหญ่ในรูปแบบ Business Networking Dinner โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐของไทยเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อนำเสนอนโยบายส่งเสริมการลงทุน ความคืบหน้าโครงการลงทุนสำคัญๆ ของภาครัฐ ตลอดจนโอกาสทางการลงทุนและความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยและจีน
โดยกิจกรรม Business Networking Dinner คณะจะได้พบหารือกับบริษัทจีนรายใหญ่ จำนวน 14 ราย ซึ่งเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย มีศักยภาพและมีแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศซึ่งหลายบริษัทได้แสดงความสนใจลงทุนในประเทศไทย และพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย เช่น กิจการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ดิจิทัลเทคโนโลยี กิจการยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้พลังงานทดแทน กิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อุปกรณ์สนับสนุนระบบบิ๊กดาต้า และระบบคลาวด์ เป็นต้น
ที่ผ่านมาการลงทุนของจีนในไทยนั้น มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 จีนนับเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงเป็นอันดับ 3 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 55,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 25,762 ล้านบาท กว่าเท่าตัว สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง อันดับสองคือธุรกิจบริการและสาธารณูปโภค อันดับสาม คือธุรกิจเหมืองแร่ เซรามิกส์และโลหะ