กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
เยาวชนชายแดนภาคใต้ 310 คน และครอบครัวอุปถัมภ์ร่วมอำลาในพิธีปิดโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" รุ่นที่ 35 สะท้อนภาพการร่วมสร้างความสมานฉันท์ โดยมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานในพิธีปิด ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คลองห้า ปทุมธานี
วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2562) เวลา 10.00 น. ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" ได้กล่าวขอบคุณในการเป็นประธานพิธีปิดโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" รุ่นที่ 35 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 19 มีนาคม – 26 เมษายน 2562 ว่า โครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" เกิดขึ้นจากการดำริของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ โดยได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิรักเมืองไทย มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง ผู้นำศาสนาและพี่น้องมุสลิมทั้งในภาคกลางและภาคใต้ ที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาร่วมกันเรียนรู้และหาประสบการณ์ใหม่ พร้อมเรียนรู้การใช้ชีวิตกับครอบครัวอุปถัมภ์
โครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 14 ปี มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวน 7,706 คน และครอบครัวอุปถัมภ์จำนวน 3,441 ครอบครัว จะเห็นได้ว่ามีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่รุ่นแรกๆ ขณะนี้จบการศึกษากำลังประกอบอาชีพต่าง ๆ ในท้องถิ่น และยังได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรมเยาวชน "สานใจไทย สู่ใจใต้" ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาเครือข่ายร่วมกันระหว่างภาครัฐในพื้นที่ อันเป็นกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่อสังคม เพราะเขาเหล่านั้นเชื่อมั่นในความเป็นธรรมและภูมิใจ ในความเป็นไทย ท้ายนี้ ขอฝากเยาวชนทุกคนที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ จงเป็นคนดี เป็นผู้นำในการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินและร่วมกันพัฒนาประเทศชาติของเราต่อไป
ด้าน พลเอกประดิษฐ์ บุญเกิด คณะกรรมการดำเนินการโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ เผยว่า การจัดกิจกรรมโครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ รุ่นที่ 35 นี้ ได้นำเยาวชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล เป็นเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 219 คน และเยาวชนที่นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 91 คน รวมทั้งสิ้น 310 คน โดยมาร่วมกันพำนักกับครอบครัวอุปถัมที่นับถือศาสลาอิสลามและศาสนาพุทธในจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 160 ครอบครัว ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นหัวใจสำคัญของโครงการฯ เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ ตลอดจนการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมที่แท้จริง เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่แตกต่าง เกิดความรัก ความเมตตา และความห่วงใย มีความผูกพันกับครอบครัวอุปถัมภ์
หลังจากพำนักกับครอบครัวอุปถัมภ์ เยาวชนจะได้รับความรู้ และประสบการณ์การเรียนรู้จากการทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เช่น พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรมบริเวณคลองบางหลวง ชุมชนสี่แยกบ้านแขกฝั่งธนบุรี มีโอกาสเข้ารับฟังโอวาทจากผู้นำระดับสูงของประเทศ ผู้นำทางศาสนา และเข้าค่ายฝึกอบรม อาทิ ค่ายกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ค่ายเปิดโลกการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สานใจไทย สู่ใจใต้ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ค่ายสิ่งแวดล้อม ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และท้ายสุดในวันพรุ่งนี้เยาวชนทั้งหมดจึงจะเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องบิน C -130 จากกองทัพอากาศ รวมเวลาที่เยาวชนเข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 32 วัน
ในส่วนของ อพวช. หน่วยงานหลักในการจัดค่าย "เปิดโลกการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สานใจไทย สู่ใจใต้" รุ่นที่ 35 นั้น ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า อพวช. มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับเยาวชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้ามาเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยรูปแบบการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การประดิษฐ์โครงสร้างรองรับแรงกระแทกและประดิษฐ์เรือจากดินน้ำมัน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนากระบวนการคิด แก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรมตามหลักการเรียนรู้แบบ สะเต็มศึกษา ทั้งนี้ อพวช. ขอขอบคุณโครงการฯ ที่ให้ความไว้วางใจ อพวช. ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ อพวช. จะมุ่งมั่นพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ ให้ประชาชนมีกระบวนการคิดด้วยหลักการและเหตุผล อันก่อให้เกิดความเข้าใจ ความสามัคคี อย่างยั่งยืนต่อไป