กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
ชาวอินโดนีเซีย ปลื้ม-กระแสตอบรับดีชมแอนิเมชั่นรามเกียรติ์ มรดกร่วมชาติอาเซียน ชูมิติวัฒนธรรมกระชับความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย เฉลิมฉลองปี 62 "ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน"
วันที่ 25 เมษายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยเป็นประธานเปิดตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่นรามเกียรติ์ ตอน "รามาวตาร" ภาษาอินโดนีเซีย ณ เมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งเป็นชาติแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน จัดโดยรัฐบาลไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) หลังจากเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเปิดตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องดังกล่าว ณ Usmar Ismail Hall กรุงจาการ์ตา ซึ่งมีประชาชน เด็กและเยาวชน นักธุรกิจชาวอินโดนีเซียให้ความสนใจเข้าชมเป็นจำนวนมากและได้รับคำชื่นชมจำนวนมาก
ทั้งนี้มี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา และ Mr. Ir. Gatot Saptadi ผู้แทนผู้บริหารสูงสุดเมืองยอกยาการ์ตา ร่วมชม นอกจากนี้มีเด็กและเยาวชน ประชาชนอินโดนีเซีย ร่วมกิจกรรมเปิดตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่น ชมการแสดงหุ่นละครเล็ก คณะโจหลุยส์ และชมนิทรรศการโขน ณ CGV Cinemas, Hartono Mall เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 8 ณ เมืองยอกยาการ์ตา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมาประกาศให้ปี 2562 เป็นปีวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้ประเทศอาเซียนร่วมกันใช้มิติวัฒนธรรมเป็นสื่อส่งเสริมความเข้าใจ ตระหนักรู้ และความภูมิใจในอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของอาเซียน ตลอดจนสร้างความสามัคคีปรองดอง และเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีในภูมิภาคอาเซียนผ่านมิติทางวัฒนธรรมร่วมกัน ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยกับอินโดนีเซีย มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาอย่างยาวนาน มีการดำเนินความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม ตามกรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียน โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2560 กระทรวงวัฒนธรรมของไทย ร่วมกับกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม มีการจัดแสดงรามายณะร่วมไทย-อินโดนีเซีย ณ ปรัมบานัน เมืองยอกยาการ์ตา
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ดังนั้นปี 2562 รัฐบาลไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่น รามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากรามายณะของอินเดีย และเป็นวัฒนธรรมร่วมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเรื่องราวที่นำมาผลิตในครั้งนี้ เป็นตอนหนึ่งจากพระราชนิพนธ์ เรื่อง รามเกียรติ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงรับสั่งให้จิตรกรมีชื่อเสียงช่วยกันวาดภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ตอนต้นจนจบเรื่อง ลงบนพระระเบียงรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือพระแก้ว ที่มีความยาว 2 กิโมเมตร รวม 178 ห้องถือเป็นมรดกทางศิลปกรรมทรงคุณค่าควรได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง และที่สำคัญ การผลิตและฉายภาพยนตร์แอนิเมชัน รามเกียรติ์ นี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมฉลอง ในโอกาสที่ยูเนสโก ประกาศขึ้นบัญชีโขนในประเทศไทยเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปและนานาชาติได้เข้าถึงภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทย ทั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศและแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
กระทรวงวัฒนธรรมของไทย จึงดำเนินการให้ทีมผู้ผลิตภาพยนตร์สร้างสรรค์ตัวละครจากจิตรกรรมฝาผนังในรูปแบบสื่อสมัยใหม่ ให้เคลื่อนไหว มีชีวิต เพื่อให้ผู้ชมยุคดิจิตอลเข้าถึงเนื้อหาสาระได้โดยง่าย ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 ในการอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าให้แก่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ด้านจิตรกรรม วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ และแอนิเมชั่นเรื่องนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศให้ปีพุทธศักราช 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน และในวาระที่ไทยเป็นประธานอาเซียนอีกด้วย