กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตข้าวโพดหวานของประเทศในปี 2562 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ มีนาคม 2562) คาดว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก รวมทั้งประเทศ 237,700 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 245,629 ไร่ (ลดลง 7,929 ไร่ หรือร้อยละ 3.23) เนื้อที่เก็บเกี่ยว232,526 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 242,729 ไร่ (ลดลง 10,203 ไร่ หรือร้อยละ 4.20) ผลผลิตรวม 520,603 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 535,365 ตัน (ลดลง 14,762 ไร่ หรือร้อยละ 2.76) ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 2,239 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่จำนวน 2,206 กก./ไร่ (เพิ่มขึ้น 33 กก./ไร่ หรือร้อยละ 1.50) ซึ่งภาพรวมผลผลิตลดลงตามการลดลงของเนื้อที่เพาะปลูก โดยเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง เนื่องจากปริมาณในแหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงฤดูแล้งมีน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก เกษตรกรจึงปล่อยเนื้อที่ให้ว่าง ด้านผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากในแหล่งผลิตที่ทำการเพาะปลูกได้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทั้งนี้ ข้าวโพดหวานในประเทศนิยมปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ กาญจนบุรี เป็นส่วนใหญ่ และผลผลิตจะออกมาในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม โดยจะออกมากในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 17.45 ของผลผลิตทั้งประเทศ
หากมองถึงการบริโภคข้าวโพดหวานในประเทศ พบว่า ปัจจุบันการบริโภคข้าวโพดหวานพันธุ์ลูกผสมมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีการพัฒนาข้าวโพดหวานสายพันธุ์ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น พันธุ์ทับทิมสยาม ที่สามารถบริโภคสดได้โดยไม่ต้องทำให้สุกก่อน ในขณะที่ข้าวโพดหวานพันธุ์พื้นเมือง เช่น พันธุ์ข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องจากผู้บริโภค
ทั้งนี้ ไทยนับว่าเป็นประเทศส่งออกข้าวโพดหวานอันดับ 1 ของโลกมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจากการที่แหล่งผลิตข้าวโพดหวานในสหภาพยุโรปและทวีปอื่นๆ ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยประสบความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (เอลนีโญ-ลานีญา) จึงส่งผลให้ข้าวโพดหวานของไทย ในปี 2561 สามารถส่งออกได้มากถึง 532,370 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,956 พันล้านบาท โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งส่งออกได้ 489,992 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.65) คิดเป็นมูลค่า 7,662 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.84) และคาดว่าปี 2562 การส่งออกจะเติบโตไปในทิศทางบวกเช่นเดียวกันเนื่องจากข้าวโพดหวานพันธุ์ลูกผสมเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตและมีความต้องการข้าวโพดหวานปรุงแต่งเพื่อส่งออก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผลิตในประเทศ เกษตรกรควรดูแลคุณภาพผลผลิต และเฝ้าระวังโรคและแมลงที่ระบาดอยู่ใน บางพื้นที่ เช่น หนอนกระทู้ โรคใบลาย โรคใบไหม้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณและผลผลิตได้คุณภาพตามต้องการ