กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ปตท.
มุ่งพัฒนาพลังงานทดแทน และเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมแบบยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่จัดการและใช้ประโยชน์ของพลังงานอย่างครบวงจรในระดับชุมชน ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน คาดใช้ก๊าซชีวภาพกำลังส่ง 3 กิโลเมตร ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานหุงต้มของชุมชนกว่า 60 ครัวเรือน ประมาณ 265,000 บาท/ปี และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,350 ตันต่อปี ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในวันนี้ (26 เมษายน 2562) นายนิติพัฒน์ ยุทธเจริญกิจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่ายุบใน พร้อมด้วย นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี และว่าที่ร้อยตรีวชิระ รุ่งวานิชการ ประธานกรรมการบริษัท เอเลแก้นท์ฟาร์ม จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครงการพัฒนาพลังงานชุมชนด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อบูรณาการระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรให้ชุมชนตำบลป่ายุบในใช้เป็นพลังงานสะอาด ตลอดจนพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการพัฒนาพลังงานชุมชนด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของ ปตท. ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่สังคมชุมชน โดยเริ่มต้นโครงการในปี 2561 ด้วยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมกับทั้งหน่วยงานภาคีและภาคชุมชนในการเข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้ในกระบวนการคิดวางแผน การประชาคม การก่อสร้าง รวมถึงการร่วมทุน และสร้างกลไกคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ และกองทุนกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ ตำบลป่ายุบใน เนื่องจากในตำบลมีฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ของบริษัท เอเลแก้นท์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพได้ถึง 800 ลูกบาศก์เมตร ถือเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการส่งจ่ายให้ชุมชนรอบข้างได้ใช้ร่วมกัน โดยดำเนินการประสานความร่วมมือ 4ฝ่าย ในการดำเนินโครงการฯ ประกอบด้วย 1) เจ้าของฟาร์มสุกร มีส่วนร่วมในการก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพ 2) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการบริหารโครงการ งานวิจัย งานวิชาการ และการจัดการความเสี่ยง 3) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถ่ายทอดองค์ความรู้การก่อสร้างระบบส่งจ่ายก๊าซชีวภาพ และร่วมวางระบบการบริหารจัดการ โดยถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการระบบก๊าซชีวภาพฯ ต. ท่ามะนาว จ. ลพบุรี กว่า 500 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ประเภทการจัดการจัดการขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และวัสดุเหลือใช้
4) องค์การบริหารส่วนตำบลป่ายุบใน มีส่วนร่วมในการสร้างกระบวนการชุมชน ตั้งแต่การสื่อความ การจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้ก๊าซฯ การจัดประชาคมหมู่บ้าน และรับสมัครครัวเรือนเข้าโครงการฯ เพื่อสร้างกระบวนการให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเอง และดูแลรักษาระบบได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป
โครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถส่งจ่ายก๊าซชีวภาพให้แก่ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการได้ภายในเดือนธันวาคม 2562 ทั้งนี้ การร่วมพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานชุมชนป่ายุบใน ซึ่งเป็นการทำงานที่มีส่วนร่วมของชุมชนนั้น จะนำมาสู่ความสำเร็จในมิติด้านเศรษฐกิจภายในชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กันไป โดยชาวบ้านในชุมชนรวมประมาณ 60 ครัวเรือนจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานหุงต้มในชุมชนได้ 265,000 บาท/ปี และฟาร์มสามารถลดค่าไฟได้ 780,000 บาท/ ปี นอกจากนี้ ยังส่งผลให้สังคมโดยรวมได้ประโยชน์จากการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์ม 2,350 ตันต่อปี และลดมลภาวะทางกลิ่นจากฟาร์ม ช่วยทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองในการดูแลและบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน