กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นประธานในโครงการ "สร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จังหวัดปราจีนบุรีอย่างยั่งยืน" ร่วมกับ นายแพทย์เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ณ หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดปราจีน อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จังหวัดปราจีนบุรี ให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 รวมทั้งเพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้แนวทางการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดปราจีนบุรี จากนั้นร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ และโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 29 หน่วยงาน (สถาบันเกษตรกร 1 กลุ่ม ภาครัฐจากหลายๆ กระทรวงในจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 22 หน่วยงาน ภาคเอกชน 4 หน่วยงาน และภาคประชาสังคม จำนวน 2 หน่วยงาน
นายมีศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศเป็นงานสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งรัดและต่อเนื่องเพราะเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับกระแสความต้องการผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ประมาณ 5,000 ไร่ ชนิดสินค้าอินทรีย์ที่สำคัญ ได้แก่ พืชผัก สมุนไพร ผลไม้ ข้าว และสัตว์น้ำจืด จากความสำคัญของการส่งเสริมพื้นที่การเกษตรด้านเกษตรอินทรีย์ จึงมีแผนเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเป็น 15,000 ไร่ ภายในปี 2564 ดังนี้ 1) ปี 2562 จำนวน 3,000 ไร่ 2) ปี 2563 จำนวน 3,000 ไร่ 3) ปี 2564 จำนวน 4,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุเป้าหมายอาจสำเร็จได้ยากหากขาดการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่าย จังหวัดปราจีนบุรี จึงได้กำหนดแนวทางให้ภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ทำการผลิตเกษตรอินทรีย์ เชื่อมโยงให้สอดคล้องกันให้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดังนี้ 1. กลุ่มเกษตรกรที่ได้ยกระดับเป็นสถาบันเกษตรกร ทำหน้าที่ประสานระหว่าง เกษตรกร กับ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เช่น การคัดเลือกเกษตรกร การกำหนดพื้นที่ เพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่และชนิดสินค้า ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด 2. ภาครัฐให้การสนับสนุนองค์ความรู้ ปัจจัยการผลิตที่จำเป็น การตลาด การพัฒนา การวิจัย การแปรรูป 3. โรงพยาบาล ส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล โดยกำหนดเมนูล่วงหน้านำผักพื้นบ้านตามฤดูกาลมาประกอบอาหาร 4. ภาคเอกชน ให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ทำการผลิตเกษตรอินทรีย์ การรับซื้อผลผลิต การสนับสนุนด้านการตลาด และการส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพในสถานประกอบการ และ 5. ภาคประชาสังคมร่วมเชื่อมโยงเครือข่าย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ผลักดันนโยบายสาธารณะ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างการมีส่วนร่วม อย่างยั่งยืน ให้ครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากนั้น รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบสินเชื่อโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ แปลงใหญ่ปลานิลปนกุ้งขาว ตำบลบางพลวง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 5 ล้านบาท ให้กับตัวแทนเกษตรกร พร้อมเยี่ยมชมการบริการจัดการของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กับสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จำกัด ที่สามารถดำเนินโครงการอาหารปลอดภัย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) ด้านการตลาดนำการผลิต ด้วยการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกร 100%อาทิ การเพิ่มมูลค่าไข่เป็ด ไข่ไก่ ด้วยสมุนไพร ทดแทนยาปฏิชีวนะ การอนุรักษ์และพัฒนาการผลิต
กระบือนม การจัดการด้านการตลาด การปรับปรุงบำรุงดิน การส่งเสริมประมงอินทรีย์ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือกับสภาวะภัยแล้ง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม การบรรยายพิเศษ โดย นายกสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน การแสดงและจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และการนำเสนอผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น
นายแพทย์เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคสินค้าอินทรีย์ หรือ Organic สูงขึ้นจนกลายเป็นเทรนด์ของโลก ส่งผลให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีอัตราการเติบโตสูงเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งนโยบายเกษตรอินทรีย์ เป็นประเด็นสำคัญของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2561) ในยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังให้การส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย เพื่อให้สถานบริการสาธารณสุขมีการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหารให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของอาหารทุกกระบวนการ เป็นภารกิจสำคัญที่หน่วยงานจะต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ผู้รับบริการภายในโรงพยาบาลได้บริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารพิษ และสารปนเปื้อน ดังนั้นการร่วมมือการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ครั้งนี้คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงอาหารปลอดภัย ส่งเสริมระบบนิเวศวิทยา ลดปัญหาการเจ็บป่วยจากการบริโภค ทำให้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีผลิตภาพสูงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน