กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--โฟร์พีแอดส์ (96)
25 เมษายน ของทุกปี ตรงกับวันมาลาเรียโลก คำขวัญปี 2562 นี้ รณรงค์ด้วยแนวคิด "เริ่มต้นที่ตัวเราสู่เป้ามาลาเรียเป็นศูนย์" เน้นให้ประชาชนร่วมกันป้องกันตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าใช้มาตรการ 1-3-7 หากพบผู้ป่วยให้แจ้งเตือนภายใน 1 วัน ระบุแหล่งแพร่เชื้อภายใน 3 วัน ควบคุมแหล่งแพร่เชื้อภายใน 7 วัน และติดตามอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องครบทุกราย พร้อมร่วมมือทุกภาคส่วนเร่งกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดจากประเทศไทยในปี 2567
นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมผู้แทนสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผู้แทนองค์การอนามัยโลก(WHO)และผู้แทน Asia Pacific Leader Malaria Alliance (APLMA)กว่า 10 ประเทศร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์ World Malaria day: Zero Malaria Starts with me "เริ่มต้นที่ตัวเรา สู่เป้ามาลาเรียเป็นศูนย์" เนื่องในวันมาลาเรียโลก 25 เมษายน เพื่อความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วนในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดจากประเทศไทยในปี 2567 พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรรับรอง 25 อำเภอที่สามารถหยุดการแพร่เชื้อไข้มาลาเรียมากกว่า 2 ปี โดยมีคณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข จากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมงานกว่า 200 คนซึ่งงานนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทน สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (WHO) และ Asia Pacific Leader Malaria Alliance (APLMA) ร่วมกล่าวแสดงความยินดีกับความก้าวหน้าของประเทศไทย พร้อมแสดงเจตนารมณ์ให้การสนับสนุนการกำจัดโรคไข้มาลาเรียทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกด้วย
นายแพทย์ปรีชา กล่าวว่า 25 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ "วันมาลาเรียโลก" คำขัวญปี2562นี้รณรงค์ด้วยแนวคิด "เริ่มต้นที่ตัวเราสู่เป้ามาลาเรียเป็นศูนย์"เน้นให้ประชาชนร่วมกันป้องกันตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย เพื่อเร่งกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทยในปี 2567 โดยประเทศไทยได้ปรับนโยบาย จากการ"ควบคุมโรค" เป็นการ "กำจัดโรค" ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก และจากรายงานสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียในปี 2553 จาก 150,000 ราย ลดลงในปี 2561 เหลือ 6,607 ราย หรือลดลงประมาณร้อยละ 95 และพบว่าพื้นที่แหล่งแพร่เชื้อลดลงเหลือเพียง 161 อำเภอ ในจำนวนดังกล่าวมี 25 อำเภอที่สามารถหยุดการแพร่เชื้อโรคมาลาเรียได้มากกว่า 2 ปี นับว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค ดังนั้นเพื่อกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทยขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน โดยเฉพาะประชาชนขอให้มีส่วนร่วมดำเนินการตามแนวคิด "เริ่มต้นที่ตัวเรา สู่เป้ามาลาเรียเป็นศูนย์" เพื่อหยุดการแพร่โรค ก้าวสู่จังหวัดปลอดมาลาเรียต่อไป
สำหรับมาตรการดำเนินการกำจัดโรคไข้มาลาเรียตามลักษณะของพื้นที่ประกอบด้วย 1.อำเภอที่มีการแพร่เชื้อให้เร่งรัดค้นหาผู้ติดเชื้อ กำหนดพื้นที่เสี่ยง ประชากรกลุ่มเสี่ยง ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงอย่างน้อย 2 ครั้ง/ปี ขยายการให้บริการตรวจรักษาเชิงรับ ควบคุมยุงพาหะให้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน 2.อำเภอหยุดการแพร่เชื้อ 1-2 ปี ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี ขยายการให้บริการตรวจรักษาเชิงรับครอบคลุมทุกหลังคาเรือน 3.อำเภอปลอดโรคไข้มาลาเรียให้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังโรค หากพบผู้ป่วยต้องทำมาตรการ 1-3-7 แจ้งเตือนโรคภายใน 1 วัน สอบสวนโรคเพื่อระบุแหล่งแพร่เชื้อภายใน 3 วัน ควบคุมแหล่งแพร่เชื้อภายใน 7 วัน ติดตามการกินยาและผลการรักษาให้ครบทุกราย และรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันป้องกันตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย
"โรคไข้มาลาเรีย" มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ยุงชนิดนี้มีแหล่งเพาะพันธุ์บริเวณป่าเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ เริ่มออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง จึงขอแนะนำประชาชนที่อาศัยหรือเดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่ดังกล่าว ป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด เช่น นอนในห้องที่มีมุ้งลวดหรือกางมุ้ง มุ้งคลุมเปล ใช้ยาทากันยุง เป็นต้น ส่วนอาการของโรคหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบาย แล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ถ้ามีอาการดังกล่าวให้สงสัยว่าเป็นไข้มาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อเจาะเลือดตรวจหาไข้มาลาเรียและแจ้งประวัติการไปในพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว หากล่าช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้