กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนเมษายน 2562 ว่า "เศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 4.3) ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากปัจจัยอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลง และผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) ขณะที่แรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐยังคงจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2562 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในปีนี้ยังคาดว่าโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าอีกด้วย สำหรับการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้น
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงประมาณการที่ร้อยละ 0.9 -1.9) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่สหรัฐฯ ยกเลิกการผ่อนผันมาตรการลงโทษต่อประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 37.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.3 – 7.3 ของ GDP)"
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อจากนี้ไปจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจนระยะต่อไปผ่านการใช้จ่ายภายในประเทศ"
เอกสารแนบ
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562
1.ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 4.3) ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากแรงส่งจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 – 2.9) ขณะที่แรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐยังคงมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2562 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.5 – 2.5) และร้อยละ 4.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.1 – 5.1) ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในปีนี้ยังคาดว่าโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ยังจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าอีกด้วย โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 – 4.6) สำหรับการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 – 4.7) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 – 3.9) ชะลอลงจากปีก่อนหน้าตามการส่งออกสินค้าและการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง
1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 – 1.9) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่สหรัฐฯ ยุติการยกเว้นมาตรการลงโทษตอ่ประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นไม่มากนัก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 37.8 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.3 – 7.3 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 24.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 – 4.0) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 – 3.9)
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3223