ปภ.เตือนพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์

ข่าวทั่วไป Tuesday April 30, 2019 14:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ จากรถจักรยานยนต์ ดังนี้ ขับขี่ในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย ทั้งการขับรถเร็ว ขับย้อนศร ขับรถปาดหน้า และแซงรถในระยะกระชั้นชิด ขับขี่ในลักษณะผาดโผน ประกอบกิจกรรมอื่นขณะขี่รถจักรยานยนต์ อาทิ การใช้โทรศัพท์ ทำให้มีมือเพียงข้างเดียวในการควบคุมรถ อาจเสียหลักล้ม และเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงไม่นำเด็กไว้ด้านหน้ารถ หรืออุ้มเด็กซ้อนท้าย เพราะส่งผล ต่อประสิทธิภาพในการควบคุมรถ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า รถจักรยานยนต์เป็น พาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ซึ่งมีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ ทั้งการขับรถเร็ว การขับรถย้อนศร โดยเฉพาะการไม่สวมหมวกนิรภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้บาดเจ็บรุนแรงบริเวณศีรษะจนถึงขั้นเสียชีวิต เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอเตือนพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ดังนี้ ขับขี่ในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย ทั้งการขับรถเร็ว ขับรถย้อนศร ขับรถปาดหน้า และแซงรถในระยะกระชั้นชิด โดยเฉพาะการแซงรถขนาดใหญ่ด้วยความเร็วสูง อาจทำให้รถจักรยานยนต์เสียการทรงตัว หรือถูกดูดเข้าใกล้รถขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ขับขี่ในลักษณะผาดโผน เช่น ขี่รถโดยนอนราบไปกับเบาะนั่ง หรือยกล้อด้านหน้า นอกจากเสี่ยงต่อการเสียหลักแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ประกอบกิจกรรมอื่นขณะขี่รถจักรยานยนต์ อาทิ การใช้โทรศัพท์ ทำให้มีมือข้างเดียวในการควบคุมรถ อาจเสียหลักล้ม และเกิดอุบัติเหตุได้ การฟังเพลง ทำให้ขาดสมาธิ ไม่ได้ยินเสียงรอบข้าง หรือเสียงเตือน จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุ อาทิ มีคนซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากกว่า 2 คน บรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก กางร่มกันฝนขณะขี่รถ นำเด็กไว้ด้านหน้ารถ อุ้มเด็กซ้อนท้าย จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมรถ ทำให้เสียการทรงตัว จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ท้ายนี้ การดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์ โดยนำกระจกมองข้างออก ทำให้ผู้ขับขี่ต้องหันไปมองด้านหลังเมื่อเปลี่ยนช่องทาง หรือเลี้ยวรถ การต่อเติมพ่วงด้านข้าง หรือด้านหลังสำหรับขนส่งสิ่งของ และบรรทุกผู้โดยสาร จะส่งผลต่อการทรงตัวและประสิทธิภาพในการขับรถ อีกทั้งการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้ใช้ความเร็วได้สูงขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ