กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--สยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล
SIAM มั่นใจผลงานปี 62 เติบโตโดดเด่น หลังบุ๊ครายได้โซลาร์ฟาร์มแดนปลาดิบ กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ เต็มปี แถมยังคว้าออเดอร์เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดล็อต 2 จากญี่ปุ่น พร้อมลุยปรับโปรดักส์เฟอร์นิเจอร์ให้มีความหลากหลาย ดันรายได้พุ่ง ฟากผู้ถือหุ้นยกมือหนุน จ่ายปันผล 0.01 บาท/หุ้น เตรียมรับทรัพย์ 27 พ.ค.นี้
นายสุรพล คุณานันทกุล กรรมการผู้อำนวยการของ บริษัท สยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (SIAM) ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และอาคารสำเร็จรูปอเนกประสงค์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากงวดผลการดำเนินงาน (1 มกราคม-31 ธันวาคม 2561) ในอัตรา 0.01 บาท/หุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 10 พฤษภาคม และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 27 พฤษภาคม 2562
ทั้งนี้ งบการเงินรวมของบริษัทในปี 2561 มีกำไรสุทธิ 245 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 47 ล้านบาท มีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 292 ล้านบาท หรือ 617% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากรายได้รวมที่เพิ่มขึ้นจากยอดขายกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ผนังกั้นน้ำ และงานรับเหมาก่อสร้างในประเทศ ประกอบกับบริษัทฯมีกำไรจากขายที่ดิน อาคารโรงงานและโชว์รูม จำนวน 350 ล้านบาท ซึ่งเดิมเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งาน
"แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่นขนาดกำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ผ่านบริษัท บางพระกรีนเอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งจะรับรู้รายได้เต็มปี"
นอกจากนี้ บริษัท สยามไบโอแมส โปรดัก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SIAM ถือหุ้น 100% ยังได้ร่วมลงนาม Agreement for the Sale and Purchase of Wood Pellets เพื่อขายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดเพิ่มเติมให้กับบริษัท มิตซุย ประเทศญี่ปุ่น โดยมีคณะผู้บริหารของบริษัท มิตซุย ประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนาม ซึ่งนับเป็นคำสั่งซื้อครั้งที่สองจากบริษัทมิตซุย
โดยในปีที่ผ่านมา บริษัท มิตซุย ได้ทำการสั่งซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดครั้งแรกกับทาง SBP ซึ่งทาง SBP ได้ทำการส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดไปแล้ว โดยนับเป็นการส่งออกเชิงพาณิชย์ล็อตแรกจากประเทศไทยไปยังญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันในส่วนของธุรกิจผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และอาคารสำเร็จรูปอเนกประสงค์ ผนังกั้นน้ำ รวมถึงบริการรับเหมาก่อสร้าง มีการปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ เพื่อให้มีรายได้กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีการปรับปรุงโปรดักส์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโปรดักส์ใหม่และช่องทางการขายมากขึ้น เพื่อเจาะตลาดใหม่ จากเดิมเน้นขายให้กับโครงการ หน่วยงานราชการและออฟฟิศ