กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--เจโนไซส์
เป็นที่ทราบกันดีว่า ใครๆ ก็ต้องการพนักงานที่เต็มไปด้วย Passion ในการทำงาน แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นเดียวกันที่ Passion ย่อมมีวันมอดลงไปหรือที่เรียกว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) ส่งผลให้งานไม่ดีเหมือนเคยๆ จนผู้บริหารต้องกลับไปคิดหนักว่าจะทำอย่างไรดีวิธีหนึ่งที่จะช่วยได้และหลายคนอาจลืมคิดถึงนั่นก็คือการเติมไฟด้วยการชื่นชมหรือสวัสดิการพิเศษในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมและมีความสำคัญในความสำเร็จขององค์กร
แจ็ค หม่า แห่งอาลีบาบา เป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชมพนักงานได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการปล่อยคลิปโปรโมทโปรโมชัน 11.11 ซึ่งไม่เพียงได้แค่โปรโมทโปรโมชันเท่านั้นแต่ยังชื่นชมพนักงานจนได้ใจพนักงานและผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน โดยภายในคลิปแจ็ค หม่า ได้ท้าแข่งขันกับพนักงานที่เชี่ยวชาญใน 5 ภารกิจด้วยกัน ผลปรากฎว่าแจ็ค หม่าแพ้ทั้งหมด พร้อมพูดปิดท้ายคลิปบางส่วนว่า พนักงานคือส่วนสำคัญของความสำเร็จที่แท้จริง ใครที่ยังไม่เคยดูคลิปสามารถดูได้ที่https://www.youtube.com/watch?v=lJ35XvOFzxs เรียกได้ว่าน่าจะจุดไฟให้พนักงานมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานเพิ่มขึ้นอีกเป็นกอง
สำหรับสวัสดิการพิเศษอื่นๆ ที่จะช่วยปลุกไฟให้กับพนักงานในองค์กรไทยได้นั้น ข้อมูลจากทาง jobthai.com ที่สำรวจความคิดเห็นของคนทำงานทั่วประเทศไทยจำนวน 3,184 คน เรื่องสวัสดิการนอกเหนือจากกฎหมายกำหนด พบว่า มีสวัสดิการใหม่ๆ 7 กลุ่มด้วยกัน
1. รางวัลและความบันเทิง
งานประจำที่ทำอยู่อาจทำให้เกิดภาวะเครียด ความบันเทิงหรือสิ่งผ่อนคลายจึงช่วยพวกเขาได้ เช่น การสะสมแต้มตาม KPI หรือเกณฑ์ที่องค์กรกำหนดไปแลกเป็นของรางวัล อย่างบริษัทเอเจนซี่โฆษณาที่อังกฤษ Uniform ได้สร้างวิดีโอที่ชื่อ Sweet Tweet เพื่อบอกพนักงานว่า เขาจะได้รับรางวัลเป็นหมากฝรั่งเมื่อมีคนติดตาม Twitter ขององค์กรเพิ่มขึ้นแบบเรียลไทม์ (สามารถดูวิดีโอแคมเปญได้ที่ https://vimeo.com/34845280) หรือตัวช่วยบริหารจัดการบุคคลอย่างแอปพลิเคชันHappy Work ของบริษัท jenosize ที่สร้างฟังก์ชันสะสมแต้มจากการทำงานหรือการให้คะแนนจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อแลกของรางวัลตามที่องค์กรกำหนดขึ้น
2. ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน
การเสริมทักษะ เพื่อสร้าง Productive ให้กับพนักงานตามความสนใจส่วนตัวของเขา คือสิ่งที่พนักงานอยากจะได้ เช่น คอร์สถ่ายภาพ คอร์สการตลาด เป็นต้น ในปัจจุบันบริษัทจำนวนมากมีนโยบายการส่งเสริมพนักงานให้เรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตัวเอง เช่น กลุ่มบริษัท ExxonMobil Group Companies เครือข่ายบริษัทด้านพลังงานและน้ำมันระดับโลก ให้พนักงานที่ผ่านระยะทดลองงานแล้วขอรับทุนการศึกษาเรียนต่อปริญญาโทในวงเงินหลายแสนบาท หรืออย่าง IKEA Thailand มีการสอนภาษาอังกฤษให้พนักงานฟรี
3. สุขภาพก็สำคัญ
นอกจากมีประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตให้พนักงานแล้ว การส่งเสริมสวัสดิการสุขภาพทั้งกายและใจก็จะตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานในยุคนี้ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรค การนำนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์มาให้คำปรึกษา อย่างบริษัท Google จะมีบริการนวดฟรีสำหรับผู้ที่ทำงานได้สำเร็จ เช่นเดียวกับ LINE ประเทศไทยที่มีการจ้างหมอนวดจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยมานวดผ่อนคลายแบบฟรีๆ ให้พนักงานครั้งละ 15 นาที เป็นต้น
4. วันหยุดสุดพิเศษ
การให้วันหยุดเพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนด เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการปลุกไฟที่มอดของพนักงานได้ดี เช่น Facebook ให้พนักงานหยุดเพื่อดูแลลูกที่คลอดใหม่ได้ 4 เดือน โดยยังได้รับเงินเดือนตามปกติ อีกทั้งจากการทดลองของบริษัทกองทุน Perpetual Guardian ในประเทศนิวซีแลนด์ รายงานว่าความเครียดของพนักงานลดลงและพนักงานมีไฟในการทำงานมากขึ้น หลังจากที่ทางบริษัทได้ทดลองให้พนักงานทำงานสัปดาห์ละ 32 ชั่วโมงในช่วงต้นปี
5. ค่าตอบแทนพิเศษ
นอกจากเงินเดือนแล้ว การให้ค่าตอบแทนหรือเงินชดเชยต่างๆ จะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าเขาได้รับการใส่ใจจากองค์กร อย่างบริษัท IKEA THAILAND จะมีการให้ Gift Voucher หรือเงินพิเศษในวันเกิดหรือช่วงเทศกาล หรืออย่างบริษัท Google ได้มีการสร้างขวัญและให้กำลังใจพนักงาน โดยหากพนักงานของ Google เสียชีวิต ในขณะที่ยังทำงานอยู่ คู่สมรสของพวกเขาจะได้รับเงินครึ่งหนึ่งของเงินเดือนจากบริษัทเป็นระยะเวลา 10 ปี หากมีบุตร ลูกของพวกเขาจะได้รับเงินอีก1,000 เหรียญหรือประมาณ 33,000 บาทต่อเดือน จนถึงอายุ 19 ปี
6. แข่งขันชิงรางวัล
การจัดกิจกรรมเพื่อความสนุกให้กับพนักงาน เพื่อชิงของรางวัลพิเศษ ช่วยให้พวกเขาได้รับรู้ถึงการแข่งขัน การชนะ และความสำเร็จหลังจากที่หมดไฟได้ เช่น การแข่งขันตกแต่งบริเวณที่ทำงานอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มบรรยากาศในการทำงานให้น่าอยู่มากขึ้น การจัดปาร์ตี้เพื่อประกวดการแต่งกาย การจัดกีฬาสีบริษัทจับฉลากปีใหม่ เป็นต้น โดยในปัจจุบันนี้บริษัทส่วนใหญ่มักจัดกิจกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับพนักงานด้วยกัน
7. ยืดหยุ่นเวลาเข้าออกงาน
เมื่อโลกดิจิทัลเข้ามาเยือน รูปแบบของการเข้าออกงานจึงเปลี่ยนไป กระแส Work From Home เริ่มได้รับการยอมรับและหลายบริษัทได้นำไปปรับใช้ โดยผลสำรวจ Flexible: friend or foe? ของ Vodafone บริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก ซึ่งพบว่า 75% ของบริษัททั่วโลกเริ่มใช้นโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น เพื่อช่วยให้พนักงานสามารถปรับเปลี่ยนเวลาทำงานและใช้เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อทำงานทางไกล นอกจากนี้การสำรวจบุคลากรในภาคธุรกิจ 8,000 คนใน 3 ทวีปยังพบว่า 53% ของบริษัทในสิงคโปร์ที่ใช้ระบบการทำงานแบบยืดหยุ่นนั้น มีผลกำไรมากขึ้น นับตั้งแต่เริ่มนำแนวทางดังกล่าวมาปฏิบัติ สอดคล้องกับรายงานของ Deloitte เรื่อง "Global Millennial Survey" จากกลุ่มตัวอย่าง 7,700 คนทั่วโลก พบว่า Flexible Working นี้เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่ยอมรับและเห็นคล้อยกันว่ามีแนวโน้มที่จะช่วยให้เกิดผลงานที่ดีกว่าการให้พนักงานมานั่งทำงานในที่ทำงานที่บริษัท
ภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดได้กับทุกองค์กร ผู้บริหารจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะเติมเชื้อเพลิงให้พวกเขาได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิด หรือสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ให้ทันตามเทรนด์โลกอย่างกลยุทธ์สร้างสวัสดิการใหม่ๆ ที่เราได้แนะนำไป เพื่อดึงดูด สร้างแรงบันดาลใจ และรักษาบุคลากรดีๆให้ Happy กับการทำงานกับองค์กรของตนเอง