กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--IR PLUS
"ชโย กรุ๊ป" แจงกรณีราคาหุ้นปรับตัวลดลงเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 28 ราย ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวน 40 ล้านหุ้น ไม่ได้เทขายหุ้นออกมา "สุขสันต์ ยศะสินธุ์"
ซีอีโอ ยืนยัน PP ทั้ง 28 ราย ไม่สามารถขายหุ้นที่ได้รับจัดสรรได้ ตามข้อตกลง Silent Peroid และใบหุ้นทุกใบที่บริษัทได้รับฝากไว้ยังอยู่กับบริษัท ยืนยันธุรกิจยังเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ แย้มผลงานไตรมาส 2/2562 ออกมาสวยเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตั้งธงทั้งปี 2562 ซื้อหนี้บริการไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
จากกรณีที่ราคาหุ้นบริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เมื่อวันอังคารที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ปิดตลาดปรับลง 0.78 บาท ปิดที่ 4.08 บาท เปลี่ยนแปลง -16.05% มูลค่าการซื้อขายกว่า 237.5 ล้านบาท โดยระหว่างวัน ราคาหุ้นได้ขึ้นไปสูงสุด (ในช่วงเปิดตลาด) ที่ระดับ 4.94 บาท และต่ำสุด 3.88 บาท
ล่าสุดนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป (จำกัด) มหาชน หรือ CHAYO ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ตามที่มีข่าวลือในสื่อออนไลน์ ฉบับหนึ่งและสื่อทางโซเชียล ได้มีข้อสงสัยว่านักลงทุนเฉพาะเจาะจงที่ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนตามมติคณะกรรมการเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้เทขายหุ้นออกมานั้น บริษัทขอชี้แจงว่า นักลงทุนเฉพาะเจาะจงจำนวน 28 รายที่ได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวน 40 ล้านหุ้น ได้สมัครใจในการที่จะไม่ขายหุ้นดังกล่าวเป็นระยะเวลา 6 เดือน (หรือมี Silent Period เป็นระยะเวลา 6 เดือน) โดยนักลงทุนทั้ง 28 ราย ได้ตกลงให้บริษัทดำเนินการออกใบหุ้น และได้นำใบหุ้นทั้งหมดที่นักลงทุนทั้ง 28 รายได้รับ มาฝากไว้กับทางบริษัท ซึ่งบริษัทจะนำส่งใบหุ้นคืนให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจงเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือน
"บริษัทขอยืนยันว่านักลงทุนเฉพาะเจาะจงทั้ง 28 ราย ไม่สามารถขายหุ้นที่ได้รับจัดสรรได้ ตามข้อตกลง Silent Peroid ที่ได้ตกลงกันไว้และใบหุ้นทุกใบที่บริษัทได้รับฝากไว้ยังอยู่กับบริษัท" นายสุขสันต์ กล่าว
สำหรับกรณีราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา เบื้องต้นบริษัทยังไม่ทราบสาเหตุ ที่แน่ชัด แต่ในส่วนของการดำเนินธุรกิจยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/2562 มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในช่วงไตรมาส 2/2562 บริษัทยังคงเดินหน้าร่วมเสนอราคารับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินในประเทศเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง คาดว่าช่วงไตรมาส 2/2562 จะมีหนี้ที่มีหลักประกันทยอยออกมาประมาณ 2,000 ล้านบาท เบื้องต้นบริษัทคาดหวังจะได้งานราว 25-50% ของมูลค่ารวมดังกล่าวหรือไม่น้อยกว่า 500-1,000 ล้านบาท
"บริษัทวางเป้าหมายจะซื้อหนี้ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหารเพิ่มอย่างต่อเนื่อง มูลค่าไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท หากบริษัทได้รับหนี้ด้อยคุณภาพใหม่เข้ามาในพอร์ตบริหารเพิ่มจะเสริมฐานมูลหนี้คงค้างเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 39,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันประมาณ 36,000 ล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกันประมาณ 3,000 ล้านบาท จะช่วยสนับสนุนให้การเติบโตของรายได้ปี 2562 เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่น้อยกว่า 15%" นายสุขสันต์ กล่าว