กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
ไมซ์เพื่อชุมชน เป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน)หรือทีเส็บ ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา โดยสนับสนุนและพัฒนาสหกรณ์ที่มีศักยภาพในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นจุดหมายรองรับการจัดประชุมและศึกษาดูงานในประเทศ ตามแนวคิด "ประชุม เที่ยว เรื่องเดียวกัน" ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกผลักดันให้เกิดการจับคู่ธุรกิจสินค้าในชุมชนและองค์กรธุรกิจต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชุมชน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งทางทีเส็บมีความต้องการที่จะส่งเสริมให้มีแหล่งศึกษาดูงานภายในประเทศแห่งใหม่ ให้เกิดขึ้นอีกหลายๆ แห่ง เพื่อให้โครงการไมซ์เพื่อชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศ และสามารถบรรลุเป้าหมายมีนักเดินทางไมซ์ในประเทศไม่ต่ำกว่า 29 ล้านคน สร้างรายได้สู่ชุมชนต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 62,000 ล้านบาท
โครงการไมซ์เพื่อชุมชน จะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อมมาพัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษาดูงาน จัดประชุมและจัดกิจกรรมเรียนรู้ภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นถิ่น โดยสหกรณ์จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมเรื่องราว ผลิตภัณฑ์สินค้าและสถานที่ท้องเที่ยวของชุมชนตนเองมานำเสนอ โดยทีเส็บจะเชิญภาคีพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา เข้ามาร่วมพัฒนาต่อยอดกับชุมชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเรื่องของการจัดประชุม ศึกษาดูงานนอกสถานที่ การอุดหนุนสินค้าพื้นถิ่น การเข้าไปจัดกิจกรรมส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตลอดจนการเข้าไปแบ่งปันความรู้ร่วมกับชุมชน เช่น ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต
นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ ของทีเส็บ เปิดเผยว่า โครงการไมซ์เพื่อชุมชนปีที่ 2 จะต่อยอดจากปีแรกที่มีสหกรณ์เข้าร่วม 35 แห่ง แต่ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 50 สหกรณ์ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งภาคที่ 2 ของไมซ์เพื่อชุมชน ได้รวบรวมสหกรณ์ที่มีความหลากหลายและมีเรื่องเล่าที่แตกต่างมากขึ้น และได้มีการจัดกิจกรรมเปิดตัวที่สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด และสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด จังหวัดนครปฐม ซึ่งสหกรณ์ทั้ง 2 แห่งมีความพร้อมในการรองรับตลาดไมซ์ได้เป็นอย่างดี
สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เป็นสหกรณ์โคเนื้อที่มีวัวพันธุ์กำแพงแสนวัวพันธุ์แรกของประเทศไทย สามารถจัดกิจกรรมเชิงความรู้วิชาการ อาทิ งานเพาะพันธ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งถือว่าเป็นโคเนื้อชื่อพันธ์ไทยพันธ์แรกของโลก ซึ่งขั้นตอนผสมให้ได้สายพันธ์ต้องมีการวางแผนเป็นลำดับขั้นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถสาธิตการผสมเทียมที่เข้าใจได้ง่าย รวมไปถึงกิจกรรมสันทนาการ เช่น แนะนำการย่างเนื้อที่ถูกวิธี การใช้น้ำจิ้มปรุงรสที่เหมาะสมกับสเต็ก ความสนุกสนานของการป้อนนมลูกวัว การโชว์ความสามารถของสัตว์ในฟาร์ม เช่นเดียวกับรีสอร์ททั่วไป ในขณะที่สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด สามารถนำเสนอขั้นตอนการผลิตนมแบบเข้าใจได้ง่าย รวมทั้งสาธิตการทำบิงซู โดยใช้วัตถุดิบจากนมโค และเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปนมสดครบวงจรและชิมไอศกรีมนมสด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปนมที่ขายดีของสหกรณ์
ทั้งสองสหกรณ์นี้เป็นสหกรณ์ที่มีเรื่องเล่า มีสถานที่และอาหารอร่อยให้ได้ลิ้มลอง และประสบการณ์ใหม่ๆ กับการประชุมสัมมนาที่ไม่ใช่ในกรุงเทพ ซึ่งการเดินทางมาจังหวัดนครปฐมจะได้เยี่ยมชมตั้งแต่โคเนื้อโคนม ได้ลองชิมลองทานตั้งแต่ของหวานของคาวและกิจกรรมดีดี เป็นเมืองรองที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพียงใช้เวลาในการเดินทางแค่ชั่วโมงกว่าๆ ที่นี่ถือว่ามีสิ่งที่น่าสนใจมากมายที่พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชนและสหกรณ์ อยากให้ทุกคนได้มาลองชมเมืองรองที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ
"ความคาดหวังในไมซ์ชุมชนภาค 2 นี้ อยากจะเชิญชวนผู้ประกอบการ และชุมชนต่างๆ ให้จัดแพ็คเกจการท่องเที่ยวและการศึกษาดูงานตามเมืองรองต่างๆ สิ่งที่เราคาดหวังคือ ให้การประชุมสัมมนาในเมืองรองแตกต่างไปจากเดิมมีสถานที่ใหม่ๆให้ อยากให้ทุกท่านได้ลองประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มศักยภาพของคนในองค์กรโดยการออกมาประชุมที่เมืองรองครับ" นายสราญโรจน์ กล่าว
นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ไมซ์เพื่อชุมชน เป็นนโยบายหนึ่งรัฐบาลให้ความสนใจ เพื่อเปิดโอกาสให้สหกรณ์ได้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนจะได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ นอกเหนือจาก การประชุมทางวิชาการ ต่อไปอาจจะเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานเรื่องชุมชน อาหารพื้นเมือง สินค้าและของดีแต่ละชุมชน หรือการท่องเที่ยวในเชิงธรรมชาติ ได้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชุมชน ขณะที่ทางสหกรณ์เองก็อาจจะได้รับคำแนะนำจากภาคเอกชน เกี่ยวกับเทคโนโลยีและช่องทางการตลาดเพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจของสหกรณ์ หรือนำไปแนะนำให้กับชาวบ้านในชุมชน เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดสินค้าตัวใหม่ ซึ่งแต่ละสหกรณ์ก็มีของดีที่ไม่เหมือนกัน ทั้งพืชผัก ผลไม้ โคเนื้อ โคนม สุกร ไข่ไก่ และอาหารแปรรูป
การจัดทำโครงการไมซ์เพื่อชุมชนในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจ มูลนิธิและภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก ที่ตรงตามเจตนารมย์ของรัฐบาลในการส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และนับเป็นโอกาสอันดีหรับสหกรณ์ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในด้านการผลิตสินค้าและบริการ จะได้เปิดพื้นที่ต้อนรับตัวแทนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นคณะผู้เข้าร่วมประชุมกับทางทีเส็บเข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ด้านธุรกิจให้กับสหกรณ์ ทั้งช่องทางการตลาด การพัฒนาดีไซน์รูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ การแบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สมาชิกสหกรณ์เกิดความเข้าใจและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน อันจะส่งผลทำให้สมาชิกสหกรณ์มีโอกาสในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนในที่สุด