กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--เอสเอ็มอีแบงก์
เอสเอ็มอีแบงก์ ปรับโครงสร้างสาขาใหม่ 99 สาขาทั่วประเทศ เพื่อรองรับแผนปฏิบัติการเชิงรุกของธนาคารในปี 2551 โดยยึดยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับศักยภาพของที่ตั้งในแต่ละพื้นที่ของสาขา ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรในการขยายสินเชื่อและทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบต่างๆและทำให้ยุทธศาสตร์ หลักของธนาคาร 4 ด้านในปีนี้ คือ การเพิ่มรายได้ลดเอ็นพีแอล การควบคุมค่าใช้จ่าย และการบริหารจัดการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ สามารถเดินหน้าเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคาร
นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับโครงสร้างบทบาทหน้าที่ศูนย์ธุรกิจของธนาคารทั้งหมด 99 แห่ง โดยได้เปลี่ยนชื่อจากเดิมเรียก “ศูนย์ธุรกิจ” เป็น “สาขา และ สำนักงานผู้แทน” และมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของสาขาออกเป็น 3 ประเภท คือ สาขาเต็มรูปแบบ (Full Branch) สาขาทั่วไป (Branch) และสำนักงานผู้แทน (Representative Office) ทั้งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2551 เป็นต้นไป
สำหรับสาขาเต็มรูปแบบ จะเป็นสาขาขนาดใหญ่ของธนาคารซึ่งจะทำหน้าที่ให้บริการครบวงจรแก่ลูกค้า ทั้งการให้บริการด้านสินเชื่อและการจัดกิจกรรมการตลาดในรูปแบบต่างๆ รวมถึงในอนาคตจะให้บริการแก่ลูกค้าเป็น Counter Payment รับชำระหนี้สินเชื่อและค่าธรรมเนียมต่างๆ และให้บริการเงินฝากแก่ลูกค้าที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคารด้วย โดยสาขาที่เข้าข่ายสาขาเต็มรูปแบบนี้ ประกอบด้วย 1 สำนัก และ 9 สาขา คือ สำนักพหลโยธิน สาขาเชียงใหม่ นครสวรรค์ นครปฐม ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี และสงขลา
ส่วนสาขาทั่วไปซึ่งประกอบด้วย 52 สาขา นั้น ซึ่งจะประกอบด้วยสาขา อาทิเช่น เชียงราย พะเยา กาญจนบุรี ราชบุรี อุบลราชธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช เป็นต้น และสำนักงานผู้แทน จะมีจำนวน 37 สำนักงานผู้แทน โดยการจัดแบ่งสาขาเป็น 3 รูปแบบดังกล่าว ได้คำนึงถึงเรื่องความเหมาะสมของศักยภาพแต่ละพื้นที่ในการให้บริการแก่ลูกค้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนงานของธนาคารต่อไป อย่างไรก็ตามลูกค้าสามารถใช้บริการด้านสินเชื่อและการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่างๆได้ทุกสาขาและสำนักงานผู้แทน ที่เคยใช้บริการได้ตามปกติเช่นเคย
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารสาขา ขึ้นทำหน้าที่ช่วยในการกำกับดูแล ควบคุม และติดตามการปฏิบัติงานด้านการอำนวยสินเชื่อและการพัฒนาผู้ประกอบการของสายงานสาขาทั้งหมดให้ไปตามแผนงานและเป้าหมายที่กำหนดด้วย ซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสาขาครั้งนี้ จะช่วยให้การทำงานของสาขากระชับ รวดเร็ว มีความชัดเจน และสามารถให้บริการที่ดีกับผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป