เพลิงไหม้ตึกโตคิว ประมาณค่าเสียหายเบื้องต้น 100 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Thursday January 10, 2008 16:56 —ThaiPR.net

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ตึกโตคิว ตรงข้างห้างสรรพสินค้า โรบินสัน ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2551 เวลาประมาณ 02.00 น. สำนัก คปภ. ได้เร่งติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการทำประกันภัยของตึกดังกล่าวฯ พบว่าตึกที่เกิดเพลิงไหม้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีการทำประกันภัยทรัพย์สินระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นสัญญาประกันภัยที่คุ้มครองการก่อสร้าง คุ้มครองความเสี่ยงทุกประเภทระหว่างการก่อสร้าง หรือเรียกว่าสัญญาแบบ CAR : Contractor All Risk จำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 3,110,327,123 บาท กับบริษัทประกันภัยในประเทศไทย 2 บริษัท โดยการ เอาประกันภัยต่อกับบริษัท Swiss Re ซึ่งบริษัทผู้รับประกันภัยในประเทศไทย 2 ราย ได้แก่
1. บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ความคุ้มครอง 80% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยรวม โดยมีวงเงินคุ้มครอง 2,488,261,698 บาท
2. บริษัทอินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) ความคุ้มครอง 20% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยรวม โดยมีวงเงินคุ้มครอง 622,065,425 บาท
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. ได้ประสานงานให้บริษัทที่ร่วมรับประกันภัยเร่งสำรวจและประเมินค่าเสียหาย เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับ ผู้เอาประกันภัย โดยในเบื้องต้น บริษัท อาคเนย์ จำกัด ได้มอบหมายให้บริษัท คันนิ่งแฮม ทำการสำรวจความเสียหาย ซึ่งพบว่าความเสียหายส่วนใหญ่เกิดจากกระจกหน้าต่างแตกละเอียดทั้ง 2 ตึก ประมาณค่าเสียหายในเบื้องต้น 100 ล้านบาท ส่วนสาเหตุของเพลิงไหม้อยู่ระหว่างการสอบสวน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นที่น่าเสียใจที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ในการที่มีการทำประกันภัยไว้จะทำให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยทรัพย์สินนั้น ซึ่งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยได้ ดังนั้นหากประชาชนหรือผู้ประกอบการจะทำประกันภัยแล้ว ขอให้พิจารณาทำประกันภัยให้ครอบคลุมความเสี่ยงภัยที่มี โดยศึกษาถึงประโยชน์ของการประกันภัย และเลือกความคุ้มครองของการประกันภัยแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับความเสี่ยงภัย และหาก ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนมีข้อสงสัย หรือต้องการปรึกษาปัญหาและต้องการความช่วยเหลือด้านการประกันภัย สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงาน คปภ.เขตในส่วนกลาง สำนักงาน คปภ. ภาค หรือสำนักงาน คปภ. จังหวัด ในส่วนภูมิภาค หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์ สายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.oic.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ