PwC เผย 'โมบายเพย์เมนต์’ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บูม เวียดนามครองแชมป์โตเร็วที่สุดในโลก ไทยติดอันดับที่ 2 ของภูมิภาค

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 7, 2019 14:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--PwC ประเทศไทย PwC เผยกระแสของการชำระเงินผ่านมือถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก หลังพบเวียดนามมีการชำระเงินผ่านมือถือเติบโตรวดเร็วเป็นอันดับที่ 1 ของโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ไทยมีการชำระเงินผ่านมือถือเติบโตรวดเร็วเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค เหตุประชากรหันมาใช้มือถือเพิ่มขึ้นบวกกับโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากกว่าฝั่งยุโรปและอเมริกา พร้อมแนะผู้ประกอบการค้าปลีกไทยเร่งมองหาแพลตฟอร์มการชอปปิงออนไลน์ใหม่ๆ พร้อมลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยเพิ่ม เพื่อรักษาอัตราการเติบโตและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ตรงจุด นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Global Consumer Insights Survey 2019 ของ PwC ซึ่งทำการสำรวจพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และความคาดหวังของผู้บริโภคออนไลน์จำนวนมากกว่า 21,000 คนใน 27 ประเทศทั่วโลกพบว่า เวียดนาม มีอัตราการชำระเงินผ่านมือถือ (Mobile payment) เติบโตรวดเร็วที่สุดที่ 61% ในปีนี้จาก 37% ในปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 24% ซึ่งอัตราการเติบโตนี้ ยังสูงกว่าบรรดา 6 ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกสำรวจด้วยทั้งหมด ทั้งนี้ ในระดับภูมิภาค ไทยมีอัตราการชำระเงินผ่านมือถือเติบโตรวดเร็วเป็นอันดับที่ 2 รองจากเวียดนาม (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19% มาที่ 67%) ตามด้วยอันดับที่ 3 ได้แก่ มาเลเซีย (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17% มาที่ 40%) ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 4 (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14% มาที่ 45%) ตามด้วยสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 5 (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12% มาที่ 46%) และอันดับที่ 6 ได้แก่ อินโดนีเซีย (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 9% มาที่ 47%) ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อดูในระดับโลก พบว่า กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง มีอัตราการชำระเงินผ่านมือถือเติบโตรวดเร็วเป็นอันดับที่ 2 รองจากเวียดนาม (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% มาที่ 45%) ขณะที่อัตราการชำระเงินผ่านมือถือของประเทศผู้นำอย่างจีนนั้นคงที่ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดที่ 86% รายงานยังด้วยระบุว่า ในปีนี้ 34% ของผู้บริโภคทั่วโลกมีการชำระสินค้าและบริการผ่านมือถือ โดยเพิ่มขึ้นจาก 24% ในปีที่ผ่านมา นาย ชิริช เจน ผู้อำนวยการฝ่ายการชำระเงิน ของ PwC Strategy& กล่าวถึงภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเด็นนี้ว่า "เอเชียยังคงเป็นผู้นำกระแสการชำระเงินผ่านมือถือของผู้บริโภค โดยรายงานชี้ว่า มีประเทศในเอเชียถึง 8 ประเทศที่ติด 10 อันดับแรกและในจำนวนนี้มีถึง 6 ประเทศที่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้งานค่อนข้างต่ำในปีแล้ว กลับเห็นการเติบโตรวดเร็วที่สุดในปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของการใช้แพลตฟอร์มมือถือที่มีความสะดวกสบายมากกว่าการพาณิชย์ในรูปแบบเดิม ซึ่งตรงกันข้ามกับสิงคโปร์ ซึ่งแม้เราจะเห็นการเติบโตเช่นกัน แต่ด้วยความที่สิงคโปร์มีระบบนิเวศดั้งเดิมที่มีความล้ำหน้า รวมถึงตัวเลือกของบริการชำระเงินผ่านมือถือที่มีให้ใช้มากมายจนอาจทำให้เกิดความสับสน และส่งผลทำให้อัตราการชำระเงินผ่านมือถือที่ได้กลับช้าลง" เขา กล่าว นาย เจน กล่าวด้วยว่า ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่มาบรรจบกัน ได้แก่ 1) ระยะของวงจรการเติบโตของเศรษฐกิจที่ผลักดันความมั่งคั่งและรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง 2) ความพร้อมของแพลตฟอร์มที่ตอบสนองความต้องการของประชากรในพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนการชำระเงินสดในการส่งมอบสินค้า 3) ต้นทุนที่ต่ำกว่าสำหรับผู้ค้าปลีกและผู้ให้บริการ และ 4) ความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคในเอเชียมีส่วนร่วมทางสังคมออนไลน์มากกว่าผู้บริโภคในฝั่งยุโรปและอเมริกา โดยผู้ถูกสำรวจจากไทย (50%) อินโดนีเซีย (49%) และเวียดนาม (48%) เป็นผู้นำในการซื้อสินค้าและบริการโดยตรงผ่านโพสต์บนโซเชียลมีเดีย เช่น อินสตราแกรม และ เฟซบุ๊ก เปรียบเทียบกับในระดับโลกที่มีเพียง 21% ของผู้ถูกสำรวจเท่านั้น ที่ซื้อสินค้าและบริการโดยตรงผ่านโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ ยังพบว่า สื่อสังคมออนไลน์มีผลกระทบการตัดสินใจซื้อสินค้าประเภทแฟชั่น (Fashion) มากที่สุด นาย ชาลส์ โลห์ หัวหน้าสายงานที่ปรึกษาด้านผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ PwC ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า "โซเชียลมีเดีย ถือเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีความสำคัญอย่างมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเทรนด์ของการชอปปิงออนไลน์ในระยะข้างหน้า จะเห็นการควบรวมกันมากขึ้นของผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ ซึ่งดูเหมือนว่าลาซาด้า (Lazada) จะเป็นผู้นำทางด้านนั้น ในประเทศอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เราเห็นผู้บริโภคที่ใช้ลาซาด้า ขณะที่ในอินโดนีเซีย ผู้บริโภคหันไปใช้โตโกพีเดีย (Tokopedia) ซึ่งดูเหมือนว่า ตอนนี้จะมีผู้ควบรวมอยู่ในทุกๆ ตลาด" นอกจากนี้ 9% ของผู้บริโภคทั่วโลกที่ถูกสำรวจยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพวกเขาใช้เทคโนโลยีเสียง (Voice technology) ในการชอปปิงออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือบ่อยกว่านั้น ด้วยเหตุนี้ บริษัทค้าปลีกควรเริ่มคิดให้ไกลกว่าการชอปปิงผ่านมือถือว่า จะสามารถใช้เทคโนโลยีเสียงในครัวเรือน รถยนต์ หรือในที่อื่นๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าได้อย่างไร ทั้งนี้ มาตรฐานของการเป็นผู้นำทางด้านแบรนด์จะยังคงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในขณะที่องค์กรมีการนำเสนอเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากขึ้น "เทคโนโลยีเสียงถูกใช้อย่างแพร่หลายบนแพลตฟอร์มการสื่อสารประเภท ข้อความโต้ตอบแบบทันที หรือ Instant messaging ซึ่งคงอีกไม่นานกว่าที่เราจะประยุกต์เทคโนโลยีนี้กับตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน" นาย โลห์ กล่าว ด้าน นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า "ไม่น่าแปลกใจที่ไทยมีการใช้การชำระเงินผ่านมือถือติดอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะกระแสอีคอมเมิร์ซกำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างมาก ดิฉันมองว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งยังมาจากการที่คนไทยนิยมใช้โซเชียลมีเดียมากติดลำดับต้นๆ ของโลก ทำให้ธุรกิจค้าปลีกทั้งรายใหญ่และรายย่อยหันมาเจาะตลาดชอปปิงออนไลน์อย่างไม่ต้องสงสัย โดยแข่งกันนำเสนอโปรโมชั่น และส่วนลดให้กับลูกค้า ยิ่งธนาคารยกเลิกค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมออนไลน์ ก็ยิ่งกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านมือถือเติบโต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงอีกจุดหนึ่ง คือ ระบบความปลอดภัยในการชำระเงินออนไลน์ เพราะนี่เป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและแบรนด์สินค้า นอกจากนี้ ควรศึกษาแพลตฟอร์มการชอปปิงออนไลน์ในรูปแบบใหม่ เช่น การชอปปิงแบบมีผู้ช่วยเสียง (Voice Assistant) หรือ การนำเอไอเข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์การชอปปิงออนไลน์ด้วย"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ