กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือน 7 ปุ่มในรถ หากเผลอกดหรือ ใช้งานไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย โดยปุ่มไฟสูง ควรเปิดใช้เมื่อขับรถผ่านเส้นทาง ที่มืดมาก ปุ่มปิดการทำงานของถุงลมนิรภัย ควรใช้กรณีติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยเด็กบริเวณเบาะด้านหน้า ปุ่มไฟตัดหมอก ควรเปิดใช้เมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่มีฝนตกหนักหรือหมอกลงจัด ปุ่มเบรกมือไฟฟ้า ควรใช้เมื่อจอดรถบริเวณทางลาดชัน ปุ่มเปิดกระโปรงหน้ารถ ควรใช้เมื่อต้องตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ ปุ่มเปิดกระโปรงท้ายรถ ควรใช้เมื่อต้องจัดเก็บสิ่งของไว้บริเวณกระโปรงท้ายรถ ปุ่มระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ควรใช้ในขณะที่รถออกตัว หรือเหยียบคันเร่งบนเส้นทางเปียกลื่นหรือทางลูกรัง จะส่งผลให้รถมีการทรงตัวที่เหมาะสม จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า รถยนต์รุ่นใหม่ มักมีระบบอำนวยความสะดวกในรูปแบบปุ่มกด หรือระบบสัมผัส ซึ่งบางปุ่มเกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยของรถ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอเตือน 7 ปุ่มในรถ หากเผลอกดหรือใช้งานไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ดังนี้ ปุ่มเปิดไฟสูง สถานการณ์ที่ควรใช้ เมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่มืดมาก จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น หรือส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง อันตรายจากการเปิดไฟสูงค้าง ไฟสูงมีลำแสงเข้มและพุ่งตรงไปด้านหน้า ทำให้ผู้ขับรถคันอื่นสายตาพร่ามัว ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ปุ่มปิดการทำงานของถุงลมนิรภัย สถานการณ์ที่ควรใช้ กรณีติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยเด็กบริเวณเบาะด้านหน้า เพื่อป้องกันถุงลมนิรภัยทำงานกรณีประสบอุบัติเหตุ ถุงลมนิรภัยจะพองตัวและพุ่งกระแทกใส่เด็ก ทำให้ขาดอากาศหายใจ และได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น อันตรายจากการปิดปุ่ม กรณีประสบอุบัติเหตุจากการชนด้านหน้า ถุงลมนิรภัยจะไม่ทำงาน ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า ได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ปุ่มไฟตัดหมอก สถานการณ์ที่ควรใช้ เมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่มีฝนตกหนัก หรือหมอกลงจัด รวมถึงการขับรถในช่วงกลางคืนหลังฝนตก หรือถนนมีน้ำเฉอะแฉะ เพื่อลดการสะท้อนของแสงไฟหน้ารถกับพื้นถนน จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น อันตรายจากการเปิดไฟตัดหมอกค้างไว้ แสงไฟตัดหมอกจะส่องสว่างได้ในระยะไกล ทำให้ผู้ขับรถคันอื่นสายตาพร่ามัว ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ปุ่มเบรกมือไฟฟ้า สถานการณ์ที่ควรใช้ เหมาะสำหรับจอดรถบริเวณทางลาดชัน จะช่วยให้ล้อล็อคอยู่กับที่ และป้องกันรถไหล ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากเปิดใช้ในขณะขับขี่ ระบบเบรกมือจะทำงานทันที แม้จะมีวงจรปลดล็อคอัตโนมัติในขณะที่ล้อหมุน แต่อาจทำให้ผู้ขับขี่ตกใจ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ปุ่มเปิดกระโปรงหน้ารถ สถานการณ์ที่ควรใช้ เมื่อต้องตรวจสอบเครื่องยนต์ หรือรถมีอาการผิดปกติ อาทิ การเติมน้ำหล่อเย็น การเปลี่ยนสายพานหรือแบตเตอรี่ การเติมน้ำมันเบรก โดยดับเครื่องยนต์และจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย พร้อมดึงเบรกมือ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ กรณีลืมปิดปุ่มเปิดกระโปรงหน้ารถ เมื่อขับรถด้วยความเร็วสูง แรงลมปะทะจะทำให้สลักยึดฝากระโปรงหลุด ส่งผลให้ฝากระโปรงเปิด และบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ปุ่มเปิดกระโปรงหน้ารถ สถานการณ์ที่ควรใช้ กรณีต้องจัดเก็บสิ่งของไว้บริเวณกระโปรงท้ายรถ และควรปิดให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน กรณีปิดกระโปรงท้ายรถไม่สนิท ในขณะรถวิ่ง อาจทำให้สิ่งของที่อยู่บริเวณกระโปรงท้ายรถร่วงหล่นกีดขวางช่องทาง ส่งผลให้รถที่วิ่งตามหลังมา ต้องหักหลบกะทันหัน จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่หากลืมปิดฝากระโปรงท้ายรถขณะจอดรถเป็นเวลานาน อาจทำให้แบตเตอรี่หมดได้ ปุ่มระบบป้องกันล้อหมุนฟรี สถานการณ์ที่ควรใช้ ในขณะที่รถออกตัวหรือเหยียบคันเร่ง บนเส้นทางเปียกลื่นหรือทางลูกรัง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทรงตัวของรถ และป้องกันล้อหมุนฟรี ส่งผลให้รถมีการทรงตัว ที่สมดุลในทุกเส้นทาง กรณีปิดระบบ เมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่เปียกลื่นหรือเป็นทางลูกรัง อาจทำให้รถมีอาการปัดหรือลื่นไถล จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายที่รุนแรงมากขึ้น ในทางกลับกันกรณีขับรถผ่านทางโคลน หรือออกจากหล่มโคลน การปิดระบบจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลื่อนรถออกจากหล่ม ทั้งนี้ การใส่ใจเรียนรู้ระบบการทำงานของรถ โดยเฉพาะปุ่มต่างๆ ในรถที่เกี่ยวข้องกับระบบอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย จะช่วยลดอันตรายและความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ