กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง "การผลิตพลังงานทดแทนชีวมวลและขยะชุมชนโดยเทคโนโลยีสะอาด" ซึ่งมีหัวข้อสัมมนาประกอบด้วย 1.การผลิตพลังงานทดแทนชีวมวลและขยะชุมชนโดยเทคโนโลยี Hybrid 2.ทิศทางโรงไฟฟ้าชีวมวลและขยะในอนาคต 3.เทคโนโลยีการใช้ RDF ในโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 4.การใช้ชีวมวลเพื่อผลิตไบโอแก๊ส และ 5.แนะนำศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลและขยะ พร้อมทั้งเยี่ยมชมชุดเทคโนโลยีภายใต้ศูนย์สาธิตฯ
โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้ศูนย์สาธิตฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งสร้างความเข้าใจและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา ต่อยอดเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนจากชีวมวลและขยะ ภายใต้การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและขยะชุมชนโดยเทคโนโลยีสะอาดในพื้นที่ โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. โอกาสนี้ ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาคเอกชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา ร่วมเป็นเกียรติและร่วมสัมมนาฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 29-30 เมษายน 2562 ณ ห้องประชุมดุสิตา สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวถึงการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและขยะชุมชนโดยเทคโนโลยีสะอาดในพื้นที่ของ วว. ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อการรองรับแผนกลยุทธ์แห่งชาติว่าด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ขององค์กร พร้อมสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานทดแทน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศของหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานจากขยะและชีวมวล ที่มุ่งสู่ Green Technology ตามนโยบายรัฐบาล วว. จึงมีแนวคิดในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี Gasification/Pyrolysis และเทคโนโลยีแก๊สชีวภาพ (Biogas) โดยใช้วัตถุดิบชีวมวลและขยะ เพื่อการผลิตพลังงานทดแทนประเภทพลังงานไฟฟ้าและความร้อน เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในประเทศและลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
"...ภาพรวมโครงการแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและขยะชุมชนโดยเทคโนโลยีสะอาดในพื้นที่ของ วว. ประกอบด้วยชุดต้นแบบเทคโนโลยี 3 ชุด ได้แก่ ชุดเทคโนโลยีคัดแยกขยะ ชุดเทคโนโลยีควบคุมมลพิษและระบบอัตโนมัติสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกว่า 1 เมกะวัตต์ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตแก๊สชีวภาพและชุดเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากขยะและชีวมวล ภายใต้ศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลและขยะ ตั้งอยู่ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา เพื่อใช้สำหรับการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานจากขยะและชีวมวล ทั้งนี้ วว. ได้ดำเนินการติดตั้งและทดสอบชุดต้นแบบเทคโนโลยี 3 ชุดดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานจากชีวมวลและขยะให้แก่ผู้สนใจ เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนในการผลิตพลังงานทดแทนของประเทศต่อไป..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
อนึ่ง การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี Gasification ในการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนได้เริ่มแพร่หลาย เป็นที่กล่าวถึงและยอมรับ โดย วว. ได้ทำการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยี เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งด้านความปลอดภัยและความคุ้มทุนทางด้านเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีนี้สามารถลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนด้วยวิธีเตาเผาและการฝังกลบได้ดี โดยไม่ก่อมลพิษทางอากาศที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้โดยใช้เตาเผาและสามารถช่วยยืดอายุการปิดหลุมฝังกลบในอนาคต