กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--สำนักงานศิลปวัฒนธรรม
ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2020 ครั้งที่ 1/2562 โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ได้หารือ ถึงการจัดงานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ในประเทศไทย ขึ้นครั้งที่ 2 ที่ จ.นครราชสีมา ต่อจาก ที่ จัดขึ้น ครั้งแรกที่ จ. กระบี่ ซึ่งมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ โดยที่ประชุม ได้สรุปภาพรวมการเตรียมความพร้อมการจัดงาน การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat2020 ดังนี้ สถานที่จัดงาน กำหนดให้ใช้พื้นที่หลัก ใน อ.เมือง และ อ.ปากช่อง โดยมีการเสนอ อ.พิมาย เพิ่มเติมอีกแห่งหนึ่ง เพื่อขยายพื้นที่ให้กระจายผลงานศิลปะไปให้ครอบคลุมมากขึ้น ขณะที่ ช่วงเวลาการจัดงาน ได้มีการเสนอ ช่วงเปิดระหว่างวันที่ 16-20 ธ.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาตรงกับฤดูหนาว สามารถดึงดูดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานได้มากขึ้น
ดร.วิมลลักษณ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ได้มอบหมาย นายศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี 2560 เป็นผู้ดำเนินการ จัดทำ ตุ๊กตาสัญลักษณ์ของงาน หรือ มาสคอต โดยให้สื่อถึงเอกลักษณ์ของการจัดงาน ผลงานศิลปกรรม เชื่อมโยงอัตลักษณ์จังหวัด ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา รายงานข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินงานเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนทุดเดือน ทั้งการจัดหาสถานที่ การประชุมร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือในการจัดกิจกรรม การวางแผนงานประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เห็นภาพการจัดงานเป็นระยะและต่อเนื่อง นอกจากนี้เห็นชอบการจัดทำแผนที่การแสดงผลงานศิลปกรรม ใน จ.นครศรีธรรมราช หรือ KORAT ART MAP ซึ่งจะนำมาจัดทำเป็นแอปพลิเคชั่น ในการช่วยให้ข้อมูลหอศิลป์ รายละเอียด และสถานที่ตั้ง รวมทั้งผลงานศิลปกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปชมผลงานศิลปะได้ง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงให้มีข้อมูลศิลปินให้ครบถ้วนด้วย
"ที่ประชุมขอให้ทุกภาคสรุปผลการดำเนินงาน และรวบรวมจัดทำข้อมูล เพื่อเสนอแนวทางการทำงาน ประกอบการพิจารณาในการประชุมครั้ง ต่อไป ซึ่ง สศร. จะเร่งให้มีการสรรหาภัณฑารักษ์เพื่อมาคุมงานให้เร็วที่สุด รวมถึง จะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกศิลปินที่มาสร้างผลงานศิลปะ ก่อนที่จะลงพื้นที่นำศิลปินมาสำรวจสถานที่สร้างงาน อย่างไรก็ตาม ได้เสนอให้มีการสร้างผลงานประติมากรรมเป็นแบบถาวรขึ้นในพื้นที่จุดต่างๆ เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ของงาน และ ส่งผลต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคู่ขนานกันไป เนื่องจากจ.นครราชสีมา ที่สถานที่ที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากแต่ยังขาดการพัฒนา อาทิ ท่าช้าง ธารปราสาท สูงเนิน เป็นต้น" ผอ.สศร. กล่าว