กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ประกาศใช้มาตรการคุมเข้มความปลอดภัยให้ทั้งผู้ป่วยและบุคลากร ยกระดับความเป็นมืออาชีพบริการด้านสุขภาพจิตตามมาตรฐานสากล โดยในปีนี้เร่งรัดการคุมเข้มด้านการใช้สื่อโซเซียลของบุคลากรทุกระดับอย่างเหมาะสม อาทิ ห้ามส่งต่อหรือเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยจิตเวช ห้ามโพสต์ กดไลค์ กดแชร์ข้อความรูปภาพอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลและองค์กรทุกแห่ง ห้ามเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดงานมหกรรมคุณภาพ ซึ่งจัดขึ้นภายในรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เพื่อพัฒนาความรู้ของบุคลากรแต่ละวิชาชีพ เพิ่มจุดแข็ง และแก้ไขจุดอ่อนที่เป็นความเสี่ยง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการให้บริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ในปีนี้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้ประกาศใช้มาตรการความปลอดภัย(JVK-2P Safety Goal 2019) ทั้งในส่วนของผู้ป่วยจิตเวชและเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการอย่างมืออาชีพ สอดคล้องกับนโยบายของกรมสุขภาพจิต ยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก ใช้อย่างเข้มข้นจริงจัง ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป โดยมาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยมี 6 ประการประกอบด้วย 1. ความปลอดภัยในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยไฟฟ้าซึ่งเปรียบเสมือนการผ่าตัดผู้ป่วยฝ่ายกาย 2. การควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อจากการสัมผัส เช่นวัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนกเป็นต้น 3. ความปลอดภัยด้านยา โดยมีการติดตามอาการที่ไม่พึงประสงค์จากยาอย่างต่อเนื่อง 4. ความปลอดภัยกระบวนการดูแลผู้ป่วย การสื่อสารระหว่างสหวิชาชีพในกระบวนการรักษา เน้นหนักในผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ผู้ป่วยที่ความเสี่ยงทำร้ายตัวเอง การเฝ้าระวังผู้ป่วยหลบหนี และภาวะแทรกซ้อนทางกาย 5.การดูแลผู้ป่วยที่ใช้สายสอดใส่เข้าไปในร่างกาย และการเก็บเลือด สารคัดหลั่งต่างๆเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ6. การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในภาวะฉุกเฉินที่ปลอดภัย โดยต่อวันมีผู้ป่วยใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 350 คน มีผู้ป่วยฉุกเฉินเฉลี่ย 22 คน และมีผู้ป่วยในนอนพักรักษาฟื้นฟูเฉลี่ย 240 คน
สำหรับบุคลากรเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่มีประมาณ 372 คน มี 6 มาตรการความปลอดภัยดังนี้ 1. เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ 2. การป้องกันบุคลากรติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วย 3. การดูแลด้านจิตใจของบุคลากร โดยเฉพาะเรื่องการมีสติในการทำงานและป้องกันภาวะการหมดไฟจากการทำงาน เพื่อให้ทำงานอย่างมีความสุขและมีความสมดุลกับชีวิต 4. การบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยในสถานปฏิบัติงานที่เหมาะสมปลอดภัย 5. การใช้รถพยาบาลฉุกเฉินอย่างปลอดภัย และ6.การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเหมาะสมต่อการปฏิบัติงานของบุคลากร
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า ในปีนี้เน้นความปลอดภัยด้านการสื่อสารเป็นพิเศษ ด้านผู้ป่วยเน้นการสื่อสารระหว่างสหวิชาชีพในกระบวนการดูแลผู้ป่วย ส่วนด้านบุคลากรเน้นในเรื่องของการสื่อสารในยุคสังคมออนไลน์ ซึ่งมีข้อมูลข่าวสารจำนวนมากและกระจายถึงตัวบุคคลอย่างรวดเร็ว จะต้องมีความระมัดระวัง และกลั่นกรอง เนื่องจากส่งผลถึงความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อของประชาชน และขณะนี้รพ.จิตเวชได้ใช้ระบบเทคโนโลยีมาพัฒนาความทันสมัยของรพ. เพิ่มความคล่องตัว รวดเร็วในการให้บริการ โดยได้ออกระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการสื่อสารและการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีข้อห้าม 6 ประการ ได้แก่ ห้ามส่งต่อหรือเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วย ห้ามถ่ายภาพผู้รับบริการหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผู้รับบริการผ่านสื่อโซเชียลทุกชนิด ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่มีผลกระทบในแง่ลบต่อโรงพยาบาล ห้ามโพสต์ กดไลค์ กดแชร์ข้อความ รูปภาพอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลหรือองค์กรบนสื่อโซเชียลทุกชนิด และต้องไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผู้อื่น
ทั้งนี้ในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวใดๆ บนสื่อโซเซียลของบุคลากร ให้ระบุว่าเป็นความเห็นส่วนตัวและให้เจ้าหน้าที่ทุกคนตักเตือน หรือแจ้งผู้บังคับบัญชากรณีพบเพื่อร่วมงานใช้งานเครือข่ายออนไลน์ไม่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ได้จัดทำเป็นคู่มือในการปฏิบัติงานเพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งโรงพยาบาล