กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กรมวิชาการเกษตร เพื่อเกษตรกร
กรมวิชาการเกษตร เร่งเครื่องต่อยอดวิทยากร 3 สาร กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เข้าคิวติวเข้มรุ่นแรกกว่า 1 พันคน อบรมพร้อมกันทั่วประเทศ 23 พฤษภาคมนี้ พร้อมดึง 3 สมาคมภาคเอกชนร่วมอบรมเพิ่มยอดวิทยากร
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 240 คน ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้วัตถุอันตรายอย่างถูกต้องและปลอดภัยไปปฏิบัติหน้าที่วิทยากรเพื่ออบรมเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 2,000 คน ตามแผนปฏิบัติการฝึกอบรมที่กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำไว้ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยการอบรมในรุ่นแรกจะเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 1,375 คน อบรมในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 นี้ ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร
พร้อมกันนี้ กรมวิชาการเกษตรยังขอความร่วมมือสมาคมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย เข้าร่วมรับการอบรมเป็นวิทยากรเพื่อไปอบรมเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยกำหนดจัดอบรมเจ้าหน้าที่จากสมาคมดังกล่าวรุ่นแรกจำนวน 150 คนในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้เช่นเดียวกัน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ในระหว่างการสร้างวิทยากรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปทำหน้าที่วิทยากรนำความรู้ที่ได้รับทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติไปอบรมเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจำนวน 1.5 ล้านคนที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้สารทั้ง 3 ชนิดนี้ ส่วนการจัดอบรมวิทยากรรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากการยางแห่งประเทศไทยเพื่อให้ครบจำนวน 2,000 คน ได้กำหนดจัดในช่วงวันที่ 6 มิถุนายน 2562
ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะเข้ารับการอบรมต้องมีทะเบียนเกษตรกร หรือหลักฐานแสดงพื้นที่ปลูกพืชที่มีความจำเป็นต้องใช้สารพาราควอตและไกลโฟเซต สำหรับกำจัดวัชพืชใน อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง และไม้ผล และใช้คลอร์ไพริฟอสเพื่อกำจัดแมลงในไม้ดอก พืชไร่ และกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล ซึ่งต่อไปการซื้อสารทั้ง 3 ชนิดไปใช้เกษตรกรจะต้องซื้อจากร้านที่ได้รับอนุญาต แสดงหลักฐานผ่านการอบรม พร้อมกับแสดงชนิดพืชที่ปลูก และพื้นที่ปลูก เพื่อกำหนดปริมาณวัตถุอันตรายที่จะซื้อได้