กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ไทยประธานอาเซียน ปี 2019 สสว.ได้เตรียมนำเสนอแผนส่งเสริมดิจิทัลใน Micro Enterprises โดยการสร้าง Born Global ผ่านแพลตฟอร์ม เชิงลึก รวดเร็ว พร้อมจัดเวทีสัมมนา Global Digitalization Model for Micro Enterprises นำผู้ประกอบการรายย่อยทั่วอาเซียน ร่วมถ่ายทอดความรู้ และนำผู้ประกอบการรายย่อยของไทย 20 ราย อบรมวิธีบุกตลาดต่างประเทศ ตั้งเป้าภายใน 5 ปี ผปก.สร้างยอดส่งออกไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียน ในปี 2019 สสว. เป็นหนึ่งในหน่วยงานของไทยที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพอาเซียน ในส่วนของการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยดำเนินการ ภายใต้หัวข้อหลัก "การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน" โดยสสว.ได้เน้น 2 ส่วน คือ 1. การใช้ดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ (Digitalization) และ 2.การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Enterprises) โดยรวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) และผู้ประกอบการรายย่อยเดิมที่ไม่สามารถเข้าถึงดิจิทัลได้ ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียน และนำข้อมูลที่ได้นำเสนอระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนด้วย
ในโอกาสนี้ สสว.ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Global Digitalization Model for Micro Enterprises ขึ้นในวันจันทร์ ที่ 27 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมสุโกศล เพื่อแลกเปลี่ยนรูปแบบในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยจะเชิญผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ในการ Go Global ที่น่าสนใจ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ และแนวทางในการออกสู่ต่างประเทศ ในด้านการใช้สื่อดิจิทัล จากประเทศ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอื่นๆ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยผู้เข้าร่วมงานดังกล่าว
นายสุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับการกิจกรรม ที่สสว.ต้องการดำเนินการเพื่อนำเสนอกับที่ประชุมอาเซียน ในฐานะเจ้าภาพ ในปี 2562 คือ โมเดลของการสร้างผู้ประกอบการ Born Global ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่ม Micro Enterprises สามารถที่จะเปิดตลาดในต่างประเทศ ได้ตั้งแต่วันแรกที่เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสสว.มั่นใจว่า หากผู้ประกอบการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์และรูปแบบที่เตรียมไว้ จะสามารถเป็นเอ็กพร็อตเตอร์ ได้ตั้งแต่ วันแรก หรือ ปีแรกที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ โดยสสว.จะติดตามประเมินผลผู้เข้าร่วมโครงการนี้ ภายในระยะเวลา 5 ปี และตั้งเป้าสร้างยอดรายได้ส่งออกไม่น้อยกว่า ร้อยละ25 จากผู้ประกอบการที่คัดเลือกเข้าร่วมจำนวน 20 ราย
"สสว.ได้มีการศึกษา สร้างบิสเนสโมเดล กำหนดกลยุทธ์ เรียกว่า พลิกตำราเรียน เพื่อดูกลยุทธ์ที่เหมาะสม มาใช้กับผู้ประกอบการรายย่อยจะทำอย่างไรให้แบรนด์ของเอสเอ็มอีไทย ไปต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี เพราะไม่ทันกับยุคดิจิทัลในปัจจุบัน ดังนั้น ทำให้เร็วขึ้น ลึกขึ้น และ ชัดขึ้นโดยการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในระบบ Micro Enterprises เป็นโจทย์ใหญ่ เนื่องจาก Micro Enterprises หรือผู้ประกอบการรายย่อย ถือเป็นสัดส่วนหลักในภาพรวมของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ของไทย คือ มีจำนวนมากกว่า 80% ของผู้ประกอบการทั้งหมด " ผอ.สสว. กล่าว
ด้านดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผอ.สสว. กล่าวต่อว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพอาเซียน สิ่งที่เราต้องนำเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนเรื่อง SME พยายามทำโจทย์ใหญ่ของอาเซียน ในฐานะเจ้าภาพ โดยเลือกเรื่องการส่งเสริมการใช้ดิจิทัล ในระบบ Micro Enterprises พยายามทำให้ เห็นว่าเมื่อมีระบบดิจิทัล ทำให้ Micro เล็กๆ สามารถไปต่างประเทศได้จริง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสตาร์อัพ ที่ไปต่างประเทศ ผู้ประกอบการทั่วไปก็สามารถไปต่างประเทศได้ โดยสสว.ได้ศึกษา และทำมาแล้วว่า เป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปออกงานแสดงสินค้าเท่านั้น ซึ่งที่ประชุมอาเซียนต้องหารือร่วมกัน ว่าจะมีนโยบายอย่างไรในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถไปต่างประเทศได้ตั้งแต่เริ่มธุรกิจ
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาสมัครได้ที่ https://forms.gle/PgRWnyReY4mNot6C7 หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณฐิติสันห์ เบญจมาศ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทรศัพท์ 043-202566 ,084-231 6705 หรือ e-mail : ecber.kku@gmail.com ด่วน ! รับจำนวนจำกัด