กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์โลกได้มีการปรับเปลี่ยนสู่ยุคแห่งรถยนต์ที่มีความชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ไทยเองก็เช่นกันในฐานะที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ก็ได้มีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มดังกล่าว โดยมีการนำเซ็นเซอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการทำงานต่างๆ ในรถยนต์เพื่อยกระดับสมรรถนะการทำงาน รวมทั้งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในด้านความปลอดภัยและความสะดวกสบาย ส่งผลให้ความต้องการเซ็นเซอร์เพื่อเป็นชิ้นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมที่มีเฉลี่ยราว 45 ชิ้นต่อคันในทศวรรษก่อนหน้า มาเป็นราว 60 ชิ้นต่อคันในปัจจุบัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้าในยุคที่ไทยกำลังก้าวย่างเข้าสู่การผลิตรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองแนวโน้มความต้องการและการผลิตเซ็นเซอร์สำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของไทยดังรายละเอียดต่อไปนี้
ทิศทางความต้องการเซ็นเซอร์ในการผลิตรถยนต์ของไทยกำลังมุ่งสู่รถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มความต้องการเซ็นเซอร์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการดังกล่าวขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 5.9 ต่อปี (ช่วงปี 2557 – 2561) โดยมีปัจจัยหนุนหลักนอกเหนือจากปัจจัยด้านปริมาณรถยนต์ที่ไทยผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.6 ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2559 เพื่อสนับสนุนการใช้เครื่องยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็มีส่วนหนุนความต้องการเซ็นเซอร์ในระบบขับเคลื่อนที่ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์และการปล่อยมลพิษ นอกจากนี้ การเร่งเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในช่วงหลังปีดังกล่าวเพื่อรองรับการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ไทย โดยเน้นการยกระดับระบบความปลอดภัยโดยนำอุปกรณ์มาตรฐาน เช่น ระบบควบคุมการลื่นไถล และม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง เป็นต้น ที่มักอยู่ในรถยนต์รุ่นใหญ่มาติดตั้งในรถยนต์รุ่นกลางและเล็กมากขึ้น ก็มีส่วนหนุนความต้องการเซ็นเซอร์เช่นกัน
สำหรับในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความต้องการเซ็นเซอร์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากปี 2561 เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตรถยนต์ที่คาดว่าจะเติบโตไม่สูงนักเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ความต้องการเซ็นเซอร์รถยนต์ในปี 2562 จะยังคงได้รับแรงหนุนจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่เน้นเพิ่มระบบความปลอดภัย และการเปิดตัวรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าของหลายค่ายรถซึ่งมีการใช้เซ็นเซอร์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คาดว่า ในปี 2562 อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะมีความต้องการใช้เซ็นเซอร์ประมาณ 134.9 ล้านชิ้น เติบโตราวร้อยละ 4.3 ชะลอลงจากปี 2561 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 13.9
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2562 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนทิศทางความต้องการเซ็นเซอร์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยให้มุ่งสู่เซ็นเซอร์ในรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากค่ายรถแต่ละค่ายในไทยจะเร่งลงทุนและเปิดตัวรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ซึ่งบางส่วนได้เริ่มมีการลงทุนประกอบรถยนต์ไปบ้างแล้วตั้งแต่ปี 2561 ขณะที่การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ในไทย อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกซักพัก เมื่อโครงข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้ามีความพร้อมมากขึ้น แต่ก็น่าจะไม่นานเกินไปกว่าปี 2564 ตามเงื่อนไขบีโอไอที่กำหนดให้ต้องมีการผลิตรถยนต์ขึ้นจริงในประเทศภายใน 3 ปี หลังจากได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน
เมื่อวิเคราะห์ถึงความต้องการเซ็นเซอร์สำหรับรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าแต่ละประเภท พบว่า รถยนต์ HEV/PHEV มีแนวโน้มความต้องการเซ็นเซอร์ต่อคันเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาปภายใน เนื่องจากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งสองชนิดมีระบบขับเคลื่อนที่ทำงานร่วมกันระหว่างระบบเชื้อเพลิงน้ำมันและระบบกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องมีจำนวนเซ็นเซอร์ที่ใช้งานเพิ่มขึ้นสำหรับระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เช่น เซ็นเซอร์วัดความดันไฟฟ้าและอุณหภูมิของแบตเตอรี่ เซ็นเซอร์วัดมุมการหมุนของมอเตอร์ เป็นต้น ส่งผลให้จำนวนเซ็นเซอร์โดยรวมต่อคันเพิ่มขึ้นเป็นราว 75 ชิ้นต่อคัน หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 25 จากจำนวนเซ็นเซอร์ที่ใช้ในรถยนต์สันดาปภายในของไทยในปัจจุบัน
ในขณะที่รถยนต์ BEV จำนวนเซ็นเซอร์ที่ต้องการกลับลดลงเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาปภายใน และรถยนต์ HEV/PHEV เนื่องจากรถยนต์ BEV มีเพียงระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีเซ็นเซอร์ในส่วนของระบบสันดาปภายใน ส่งผลให้จำนวนเซ็นเซอร์โดยรวมต่อคันลดลงเหลือราว 55 ชิ้นต่อคัน หรือลดลงประมาณร้อยละ 8 จากจำนวนเซ็นเซอร์ที่ใช้ในรถยนต์สันดาปภายในของไทยในปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มความต้องการเซ็นเซอร์ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะ 5 ปีนับจากนี้ (ช่วงปี 2562 – 2566) ความต้องการดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 58 ต่อปี ตามปริมาณการผลิตรถยนต์ HEV/PHEV ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและการส่งออก โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์ HEV ที่น่าจะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนยอดผลิตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2562 นี้ จากความพร้อมของเทคโนโลยีที่มีมานานและการสนับสนุนของหลายค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย ส่งผลให้ในปี 2566 คาดว่า จะมีความต้องการเซ็นเซอร์ในการผลิตรถยนต์ HEV พุ่งขึ้นแตะ 23 ล้านชิ้น คิดเป็นร้อยละ 77 ของความต้องการเซ็นเซอร์ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด รองลงมาเป็นรถยนต์ PHEV ที่ 6 ล้านชิ้น (ร้อยละ 20) ในขณะที่ความต้องการเซ็นเซอร์สำหรับรถยนต์ BEV จะอยู่ที่เพียง 0.9 ล้านชิ้น (ร้อยละ 3)
ลงทุนเซ็นเซอร์รถยนต์ไฟฟ้า…เพิ่มขึ้นตามการลงทุนของค่ายรถในการผลิตชิ้นส่วนขับเคลื่อนไฟฟ้า
ในอดีต อุตสาหกรรมผลิตเซ็นเซอร์สำหรับยานยนต์ของไทยมักทำการผลิตเซ็นเซอร์ที่มีระดับเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนนัก ทำให้สามารถรองรับความต้องการในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของไทยได้เพียงบางส่วน อย่างไรก็ดี ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้มีผู้ผลิตเซ็นเซอร์ต่างชาติโดยเฉพาะสัญชาติญี่ปุ่นได้ทยอยเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อผลิตเซ็นเซอร์สำหรับรถยนต์มากขึ้น ซึ่งรวมถึงเซ็นเซอร์ที่มีระดับเทคโนโลยีชั้นสูง ที่ใช้ในระบบควบคุมการเผาไหม้และการปล่อยมลพิษสู่อากาศ เพื่อตอบสนองต่อมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยตลอดจนประเทศคู่ค้าที่เข้มงวดขึ้น ตลอดจนลงทุนในการผลิตเซ็นเซอร์สำหรับระบบความปลอดภัย เช่น ระบบเบรค และระบบถุงลมนิรภัย เป็นต้น ที่ได้กลายมาเป็นจุดเน้นทางการตลาดของค่ายรถในไทยเพื่อสร้างความแตกต่างในการแข่งขันโดยเฉพาะรถยนต์ในรุ่นกลางและเล็กดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมีแนวโน้มพึ่งพาการนำเข้าเซ็นเซอร์ในรถยนต์ลดลงเป็นลำดับ โดยลดลงจากปี 2556 ที่ไทยมีสัดส่วนการพึ่งพาเซ็นเซอร์รถยนต์จากต่างประเทศสูงถึงร้อยล 90 ของปริมาณความต้องการเซ็นเซอร์ทั้งหมดในการผลิตรถยนต์ของไทย มาสู่ระดับร้อยละ 70 ในปี 2561[1]
สำหรับทิศทางการลงทุนผลิตเซ็นเซอร์สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะเป็นไปในลักษณะการทยอยลงทุนตามการลงทุนของค่ายรถในชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเพื่อให้เข้าเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ โดยในช่วงแรก แต่ละค่ายรถได้เลือกที่จะลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ในช่วงเริ่มต้น คาดว่า ผู้ผลิตเซ็นเซอร์น่าจะมีการลงทุนผลิตเซ็นเซอร์บางชนิดที่ใช้ในแบตเตอรี่ โดยเฉพาะเซ็นเซอร์ที่เกี่ยวกับการวัดอุณหภูมิ เนื่องจากผู้ผลิตเซ็นเซอร์รายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีดังกล่าวสำหรับรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าได้มีการลงทุนในไทยในช่วงก่อนหน้าสำหรับเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิในเครื่องยนต์ของรถยนต์สันดาปภายใน ทำให้มีโอกาสลงทุนขยายการผลิตไปสู่เซ็นเซอร์สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ในอนาคต
แม้ไทยจะมีการผลิตเซ็นเซอร์ที่มีเทคโนโลยีระดับสูงเพิ่มมากขึ้นดังที่ได้กล่าวมา แต่การผลิตเซ็นเซอร์ของไทยในปัจจุบัน ก็ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนหลักอย่างเวเฟอร์ที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เพื่อมาประกอบกับชิ้นส่วนอื่นเพื่อผลิตเป็นเซ็นเซอร์ ทั้งนี้ การจะลดการพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนดังกล่าวโดยการดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเวเฟอร์ในไทยก็เป็นการยากในปัจจุบัน เพราะต้องการเงินลงทุนสูงถึงระดับแสนล้านบาท ประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนในการยกระดับเทคโนโลยีอยู่เสมอ ส่งผลให้นักลงทุนมักเลือกลงทุนสร้างโรงงานผลิตเวเฟอร์ให้กระจุกตัวอยู่เพียงบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นต้น เพื่อผลิตเวเฟอร์เป็นจำนวนมากให้ได้การประหยัดเชิงขนาด แล้วส่งออกไปประกอบกับชิ้นส่วนอื่นเพื่อผลิตเป็นเซ็นเซอร์ยังประเทศที่มีปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างประเทศไทย เช่น เป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายอย่างรถยนต์ มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จูงใจ และแรงงานที่มีทักษะเชิงเทคนิคขั้นสูง เป็นต้น ส่งผลให้รูปแบบการลงทุนในไทยของผู้ผลิตต่างประเทศและการพึ่งพิงการนำเข้าเวเฟอร์น่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในอนาคต
โดยสรุป ความต้องการเซ็นเซอร์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนหลัก 3 ประการ คือ ปริมาณการผลิตรถยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง การยกระดับสมรรถนะและฟังก์ชั่นการทำงานของรถยนต์โดยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าแห่งหนึ่งของโลก ส่งผลให้ผู้ผลิตเซ็นเซอร์สำหรับยานยนต์จากต่างประเทศมีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อผลิตเซ็นเซอร์ที่มีระดับเทคโนโลยีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเซ็นเซอร์ในระบบควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์และการปล่อยมลพิษ และเซ็นเซอร์ในระบบความปลอดภัย ทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เยอรมัน และจีน เป็นต้น นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้คาดว่าผู้ผลิตเซ็นเซอร์น่าจะเริ่มเข้ามาลงทุนเซ็นเซอร์ในแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อทิศทางการลงทุนของค่ายรถในชิ้นส่วนขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ ความต้องการเซ็นเซอร์ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสำหรับรถยนต์ HEV/PHEV ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและการส่งออกในอนาคต