กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปจำนวนอุบัติเหตุจราจร ปี 2550 ช่วง 11 เดือน (เดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2550) ลดลงจากปี 2549 ร้อยละ 6.75 ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.34 บาดเจ็บลดลงร้อยละ 3.31 ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด และรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด รวมมูลค่าความเสียหายทางทรัพย์สินกว่า 4,368 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยได้ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบกในช่วง 11 เดือนของปี 2550 (เดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2550) พบเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก จำนวน 92,948 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.75 จำนวนผู้เสียชีวิต รวม 11,302 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 จำนวน 149 คน คิดเป็นร้อยละ 1.34 และจำนวนผู้บาดเจ็บสาหัส รวม 14,633 คน ลดลงจากปี 2549 จำนวน 1,021 คน คิดเป็นร้อยละ 6.52 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 590 คน รองลงมา ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 444 คน โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด 15,723 ราย รองลงมา ได้แก่ ตัดหน้ากระชั้นชิด 13,007 ราย เมาแล้วขับ 4,973 ราย ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ จำนวน 62,022 คัน รองลงมา ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล จำนวน 37,163 คัน รวมมูลค่าความเสียหายทางทรัพย์สิน 4,368 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปี 2549 ถึง 1,508 ล้านบาท สำหรับจังหวัดที่มีคดีอุบัติเหตุจราจรเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2549 รวม 37 จังหวัด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี ยโสธร โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และเป็นเส้นทางผ่านไปจังหวัดอื่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้ประสานให้จังหวัดดังกล่าวให้ความสำคัญกับการวางแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในทุกมาตรการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านวิศวกรรมจราจร และด้านการให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ส่วนจังหวัดอื่นๆให้พิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริง ทั้งทางด้านวิศวกรรมจราจร หรือด้านพฤติกรรมคน เพื่อปรับปรุง แก้ไขและรณรงค์ป้องกันให้ตรงจุดและบรรลุเป้าหมายการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน