กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การเมืองปัจจุบัน กับ ความสุขของประชาชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การเมืองปัจจุบัน กับ ความสุขของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,295 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง วันที่ 1 – 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 ระบุ การเมืองปัจจุบันส่งผลกระทบทำลายความสุขของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 10.1 ระบุไม่ทำลาย และที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนมากหรือร้อยละ 42.6 ระบุ ระดับความขัดแย้งทางการเมืองเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 2557 เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 39.5 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 17.9 ระบุลดลง
เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นชาย ร้อยละ 43.9 มีสัดส่วนของผู้ที่ระบุความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นหญิง ร้อยละ 41.5 ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 58.1 ระบุความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 2557 มากกว่ากลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มวัยอื่นคือ วัยกลางคนร้อยละ 35.0 และคนสูงวัยร้อยละ 47.2 ที่ระบุความขัดแย้งทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 2557
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองน่าจะตัดสินใจอะไรบางอย่างที่บริหารจัดการอารมณ์ของสาธารณชนได้ดีโดยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เพราะมาตรการกดความรู้สึกอัดอั้นของสาธารณชนจนไม่มีช่องระบายอาจส่งผลทำให้ความขัดแย้งที่เปลือกของประชาธิปไตยลุกลามไปถึงแก่นความมั่นคงได้และจะเหนื่อยกันจนยากจะควบคุม ทางออกคือ เลือกทางที่นำไปสู่ความขัดแย้งน้อยที่สุดและไม่มองมวลหมู่ประชาชนแบบเหมารวมแต่ควรแก้ไขเป็นราย ๆ ไปเพราะในกลุ่มที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินนั้นอาจจะพบคนที่รักชาติบ้านเมืองและสถาบันหลักของชาติมากกว่าฝ่ายการเมืองกลุ่มหนุน Status Quo อีกด้วย มันจึงไม่ใช่อยู่ที่เสื้อสีกีฬาการเมืองที่เลือกข้างแต่อยู่ที่ความถูกต้องชอบธรรมทางการเมือง