กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น
โค้งสุดท้ายของ "FameLab Thailand 2019" กับเวทีนำเสนอเรื่องราววิทยาศาสตร์ระดับโลกในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 โดยความร่วมมือระหว่าง บริติช เคานซิล กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทรู คอร์ปอเรชั่น สวทช. สอวช. อพวช. เดอะ สแตนดาร์ด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ยูรักเซส (EURAXESS) เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันบนเวที FameLab International 2019 ในเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก "Cheltenham Science Festival" ณ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 5 - 6 มิถุนายน 2562
โครงการ FameLab Thailand 2019 ในปีนี้ถือว่าเข้มข้นและเต็มไปด้วยคุณภาพกับผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย ที่มีทั้งนักศึกษา นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์แบบอัดแน่น และทักษะการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ได้ฝึกฝนกับ ดัลลาส แคมป์เบลล์ (Dallas Campbell) วิทยากรผู้มากประสบการณ์ในการนำเสนอรายการวิทยาศาสตร์ทางโทรทัศน์ ตลอดช่วงมาสเตอร์คลาสที่ผ่านมา
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในปีนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงาน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย ร่วมเปิดงานและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ร่วมกันกับผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงวิทยาศาสตร์ คุณกรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ ยังมี เฌอปราง อารีย์กุล หนึ่งใน FameLab Ambassador ตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมชมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ FameLab Thailand Competition 2019 ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องออดิทอเรี่ยม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2562
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในยุคสมัยของไทยแลนด์ 4.0 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่ง และศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ที่ทำหน้าที่หลักในการผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าด้วยนวัตกรรม นอกจากความสามารถทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยของบุคลากรแล้วนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังต้องมีทักษะในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้สังคมในวงกว้างเข้าใจถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และงานวิจัย โดยเฟมแล็บ (FameLab) ถือเป็นโครงการที่ช่วยให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตในระดับบุคคล และพัฒนาประเทศในองค์รวม
ด้าน ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงาน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม กลุ่มทรูเล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารที่จะสามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการแบ่งปันองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ได้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว เวที FameLab เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเสนอ "การสื่อสารวิทยาศาสตร์" ให้คนรับรู้ว่าวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยากเสมอไป ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่ทาง ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ FameLab ซึ่งถือเป็นโครงการที่สอดคล้องกับพันธกิจของกลุ่มทรู ที่มุ่งมั่นสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร โดยจะนำศักยภาพด้านการสื่อสารของกลุ่มทรู สนับสนุนการประชาสัมพันธ์โครงการให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ผ่านช่องรายการ ของทรูวิชั่นส์ / True4You / TNN 24 / ทรูปลูกปัญญา รวมถึง Social Media ของกลุ่มทรู นอกจากนี้ จะทำการถ่ายทอดสดการแข่งขัน FameLab รอบ ชิงชนะเลิศผ่านทาง Facebook Live ของ เพจ British Council Thailand และนำเทปบันทึกการแข่งขันไปออกอากาศทางช่องทรูปลูกปัญญา ซึ่งเป็นช่องรายการยอดนิยมสำหรับเยาวชนและคนในวงการการศึกษาทั่วประเทศอีกด้วย
มร. แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า งานวิจัยจะมีประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อสังคมได้รับประโยชน์และเข้าถึงความรู้นั้นๆ ดังนั้นการสื่อสารผลงานวิจัยและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโลกวิทยาศาสตร์และคนทั่วไปให้เข้าถึงความรู้มีความสำคัญอย่างมาก เห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาองค์กรระดับนานาชาติหลากหลายองค์กรได้หันมาให้ความสำคัญเรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ใช้วิทยาศาสตร์เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม และยังทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น โครงการเฟมแล็บ (FameLab) เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยและสังคม ที่จัดขึ้นโดย บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 25 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการเฟมแล็บในปีนี้ ซึ่งถือเป็นปีที่ 4 และได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และบุคคลทั่วไป ในการร่วมกันทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถใช้วิทยาศาสตร์อธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เป็นแรงสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ผู้ชนะเลิศ FameLab Thailand Competition 2019 คือ นางสาว ณภัทร ตัณฑิกุล จะได้รับเงินรางวัลเพื่อสนับสนุนด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์มูลค่า 20,000 บาท สิทธิ์ในการเลือกเยี่ยมชมห้องแล็บใดก็ได้ในทวีปยุโรป และเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันในเวที FameLab International ในเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก Cheltenham Science Festival 2019 ณ สหราชอาณาจักร ในระหว่างวันที่ 5 – 6 มิถุนายน 2562 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ บริติช เคานซิล โทร. 02-657-2211 เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th/famelab และ www.facebook.com/britishcouncilthailand