กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--ธนาคารกสิกรไทย
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาฯ จ.น่าน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในงานสัมมนา "รักษ์ป่าน่าน" ครั้งที่ ๔ และทรงบรรยายเรื่อง "สร้างป่า สร้างรายได้"
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้สนับสนุนและอำนวยการสัมมนา เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นผู้สนับสนุนและประสานงานการจัดสัมมนาวิชาการในโครงการ "รักษ์ป่าน่าน" อันมีสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นผู้อำนวยการโครงการ โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทัพบก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจังหวัดน่าน ร่วมเป็นผู้ดำเนินการโครงการ ซึ่งหน่วยงานที่ร่วมในโครงการ "รักษ์ป่าน่าน" จะได้นำเสนอความคืบหน้า และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานในรอบสองปีที่ผ่านมาต่อที่ประชุม
การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะแสวงหาความร่วมมือในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในจังหวัดน่านได้ประกอบสัมมาอาชีพที่สร้างสรรค์ และพอเพียง ทำให้สามารถดำรงชีพที่มีคุณภาพร่วมอยู่กับป่าได้ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนน่าน ให้รับช่วงต่อไปในการรักษาทรัพยากรอันเป็นสมบัติแผ่นดินสืบไปในภายภาคหน้า
การสัมนนาจะเริ่มจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง "สร้างป่า สร้างรายได้" และตามด้วยการบรรยายเรื่อง "สิ่งดีดีกำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน" โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉาย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ต่อด้วยการเสวนาเรื่อง "วิถีคนน่านอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน" โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิการบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นางฑิฆัมพร กองสอน ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย และนายถนัด ใบยา รองประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน
การสัมมนาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องผู้นำชุมชนและประชาชนชาวน่านเข้าร่วมฟังการสัมมนากว่า ๔๐๐ คน ซึ่งคาดว่าจะร่วมกันระดมความรู้ความสามารถและประสบการณ์ เพื่อหาแนวทางและวิธีการที่จะหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าน่านอย่างแท้จริง อีกทั้งหาวิธีการที่ให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยกับป่าสามารถดำรงชีพมีวิถีชีวิตการทำมาหากินกับป่าได้ ซึ่งแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ นั้น จะมีการถ่ายทอดสู่เยาวชน เพื่อให้การ "รักษ์ป่าน่าน" ได้ดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน