กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
วธ. สืบสานต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยปี 2562 เน้นอบรมการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างเครือข่ายการค้าทั่วประเทศรวมทั้งการจดลิขสิทธิ์ของกลุ่มสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติ
นายกฤษศญพงษ์ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ประจำปี 2562 โดยมีผู้ตรวจราชการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้ มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และเครือข่ายผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย จากทั่วประเทศเข้าร่วม 200 คน
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย หรือ (Cultural Product of Thailand : CPOT) เป็นผลจากการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน และต่อยอดให้ชุมชนคุณธรรมฯต้นแบบทั่วประเทศสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ซึ่งพัฒนามาจากวัฒนธรรมไทย มีคุณค่า ความหมาย เรื่องราว ด้านวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าที่ได้รับการสืบสาน สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ บ่งบอก อัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ CPOT
ปลัดวธ. กล่าวต่อไปว่า การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และบริการอันเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนระดับชาติ และระดับนานาชาติ สร้างความรู้ ความเข้าใจในการสร้างสรรค์ต่อผลิตภัณฑ์ CPOT ของ วธ. ให้กับผู้ประกอบการและนักวิชาการวัฒนธรรมที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้มีความพร้อมในการนำไปผลิตและจำหน่ายได้จริง กระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดความรัก ความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น นำไปสู่การอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอดรากวัฒนธรรมไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ประกอบการชุมชนต่างๆทั่วประเทศ แบ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า 2.เครื่องประดับ 3.กลุ่มอาหาร สมุนไพรและของใช้ในครัวเรือน 4.กลุ่มงานประดิษฐ์ 5.กลุ่มเครื่องไม้ 6.กลุ่มจักสาน โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบในระดับนานาชาติมาวิทยากรให้ความรู้ และผู้แทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มาให้ความรู้เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการยื่นคำขอแจ้งข้อมูลเพื่อจดลิขสิทธิ์กลุ่มสินค้าและบริการด้านวัฒนธรรม เพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
"ผู้ประกอบการสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ให้มีรูปแบบร่วมสมัย มีประโยชน์การใช้งานตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลสามารถนำไปผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติชาติและทุกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการต่อยอดทุกรายการสามารถนำมาร่วมจัดแสดงนิทรรศการงานแสดงสินค้าในระดับชาติและนานาชาติได้ นับเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์" ปลัด วธ. กล่าว