กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง
ผู้อำนวยการ UddC ร่วมเวที TDRI Annual 2019 "สังคมอายุยืน แข่งขันได้ อยู่ดี มีสุข อย่างไร?"
ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ร่วมงาน TDRI Annual Conference 2019 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ รร.เซนทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งปีนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานภายใต้แนวคิด "สังคมอายุยืน แข่งขันได้ อยู่ดี มีสุข อย่างไร?" โดยผู้อำนวยการ UddC เป็นแขกรับเชิญในเวทีเสวนา หัวข้อ พัฒนา "เมืองสำหรับคน" อย่างในในสังคมอายุยืน? นำเสนอหลักโดย ดร. สุเมธ องกิตติกุล และคุณณิชมน ทองพัฒน์ ทีดีอาร์ไอ
"เมืองออกแบบได้" คือ สาระสำคัญจากผู้อำนวยการ UddC กล่าวคือ นอกจาก "การออกแบบเมืองที่เป็นมิตรกับคนสูงวัย" ซึ่งเป็นมาตรฐานการออกแบบอาคารและพื้นที่สาธารณะทั่วโลก หากสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ การออกแบบเมืองสำหรับคนที่ยังไม่แก่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนเหล่านี้แก่อย่างมีคุณภาพ (Active Ageing) เมืองต้องสร้าง "วัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ดี" ที่ส่งเสริมให้คนสะสม "ทุนสุขภาพ" ไว้ใช้ตอนแก่
ผู้อำนวยการ UddC กล่าวว่า การเดินเป็นวิธีสร้างทุนสุขภาพที่สะสมง่ายและถูกที่สุด เมืองจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เช่น ทางเท้าและสวนสาธารณะ เพื่อส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ ทั้งนี้ จากโครงการ "เมืองเดินได้ เมืองเดินดี" (GoodWalk) โดย UddC สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า กรุงเทพฯและเมืองขนาดรองในไทย 33 เมือง เป็นเมืองเดินได้ คือสามารถเดินไปยังพื้นที่เป้าหมายในชีวิตประจำวันโดยไม่ใช้รถยนต์ แต่กลับเป็นเมืองเดินไม่ดี เนื่องจากเดินไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย และไม่น่ารื่นรมย์ ซึ่งล้วนอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตในพื้นที่สาธารณะของคนสูงอายุ
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครยังมีศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สีเขียว และนำมาออกแบบเพื่อยกระดับสุขภาวะให้คนเมืองได้ เช่น โครงสร้างทิ้งร้างและพื้นที่ใต้ทางด่วน เฉพาะใจกลางพื้นที่ กทม. พบว่า มีพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 600 ไร่ หรือเท่ากับ 2 เท่าของขนาดสวนลุมพินี หากโครงสร้างทิ้งร้างและพื้นที่ใต้ทางด่วนได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว จะส่งผลให้การเข้าถึงสาธารณูปการสำหรับสุขภาพมีเพิ่มมากขึ้น
"แม้ว่าเราจะรู้สึกว่า กทม. แออัด แต่แท้จริงแล้ว กทม. มีพื้นที่ศักยภาพมากมาย ที่สามารถนำมาออกแบบเพื่อยกระดับสุขภาวะคนในเมืองได้ หนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวคือ พื้นที่กรรมสิทธิ์ของรัฐที่มีการใช้งานต่ำ (under-utilized) เช่น โครงการพระปกเกล้าสกายปาร์ก (โครงการสะพานด้วน) จากการฟื้นฟูรางรถไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างไม่เสร็จและไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นทางเดิน-ทางจักรยานสีเขียวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถใช้งานได้ทุกเพศทุกวัย ดึงดูดให้คนออกมาเดินเล่น และชมทัศนียภาพบนสะพาน นอกจากนี้โครงการยังเป็นต้นแบบความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่นและส่วนกลางในการฟื้นฟูเมือง ขณะนี้สภากรุงเทพมหานครอนุมัติงบประมาณแล้ว คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563" ผู้อำนวยการ UddC กล่าว
ผู้อำนวยการ UddC กล่าวทิ้งท้ายว่า การกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งการให้อำนาจเขตในการบริหารจัดการพื้นที่รับผิดชอบอย่างอิสระในกรณีของ กทม. จะเป็นการ "ทลายคอขวด" ของการพัฒนาเมืองที่สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการที่หลากหลายของคนได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ การออกแบบเมือเพื่อรองรับอนาคตที่มี "ศตวรรษนิกชน" หรือ คนอายุมากกว่าร้อยปีที่เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้คนทุกวัย ทั้งแก่และยังไม่แก่ "เดินได้ เดินดี เดินร่ม เดินเย็น"
"เมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่สาธารณะส่งเสริมสุขภาวะ ที่เข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้า ต้องเป็นวาระสำคัญของเมือง เพื่อให้คนเพิ่มทุนสุขภาพไว้ใช้ตอนแก่" ผู้อำนวยการ UddC กล่าวย้ำ