กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยรายใหญ่สองราย แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอาจเผชิญกับความท้าทายจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ชะลอตัวลง ผู้ประกอบการน่าจะยังคงแข่งขันกันอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการเสนอแพคเก็จให้บริการด้านข้อมูลแบบไม่จำกัด ซึ่งน่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อรายได้ และส่งผลต่อการฟื้นตัวของกำไรผู้ประกอบการ
ฟิทช์เชื่อว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับที่สาม ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทมาจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับหนึ่ง ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีการกระจายรายได้ไปยังบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งน่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเติบโตที่ช้าลงของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
รายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.7 ในโตรมาสที่ 1 ของปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (ปี 2561: ลดลงร้อยละ 2.8) แต่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงในระดับที่สูงกว่าที่ร้อยละ 26.3 เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่สูงส่งผลให้กำไรลดลง ในขณะที่ EBITDA ของ AIS อยู่ในระดับไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่ารายได้จากการให้บริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ได้ชดเชยการชะลอตัวในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยน่าจะยังคงเผชิญแรงกดดันต่อรายได้ จากการที่รายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลที่เติบโตในอัตราที่ต่ำลง การเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการด้านข้อมูลรายใหม่เริ่มชะลอตัวในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากสัดส่วนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G เพิ่มขึ้น ในขณะที่การเติบโตของปริมาณการใช้ข้อมูลของผู้ใช้บริการรายเดิมไม่ได้ส่งผลให้รายได้ขยายตัวอย่างเต็มที่เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในการให้บริการข้อมูลที่รุนแรง การเติบโตของรายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้จากการให้บริการด้านเสียง และข้อความสั้น (SMS) ที่ลดลง และอาจส่งผลให้รายได้จากการให้บริการโดยรวมลดลงในช่วงสองปีข้างหน้า ผู้ประกอบการอาจต้องให้ส่วนลดค่าบริการ และส่วนลดค่าเครื่อง เพื่อที่จะเร่งการเติบโตของการให้บริการด้านข้อมูล โดย ณ สิ้นโตรมาสที่ 1 ของปี 2562 อัตราส่วนของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G ในประเทศไทยอยู่ในระดับสูง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 ของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดของ DTAC และร้อยละ 63 ของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดของ AIS
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลให้เพิ่มขึ้น เพื่อการเติบโตในระยะยาวของรายได้เมื่อจำนวนผู้ใช้บริการด้านข้อมูลเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเสนอราคาการให้บริการข้อมูล โดยการลดหรือยกเลิกแพ็คเกจข้อมูลแบบไม่จำกัดหรือแพ็คเกจที่ให้ปริมาณการใช้ข้อมูลจำนวนมาก แล้วเปลี่ยนมาคิดค่าบริการตามปริมาณการใช้งานจริง นอกจากนี้การเสนอบริการหลายรูปเป็นแพคเก็จ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และ โทรทัศน์ น่าจะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้บริการกับบริษัทอื่นยากขึ้น และเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อลูกค้า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจมีความท้าทายในภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง
ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ DTAC น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2562 หลังจากที่บริษัทชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 GHz และ 900 MHz โดยก่อนหน้านี้บริษัทมีความเสียเปรียบในด้านคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ และคุณภาพของเครือข่ายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปรับปรุงคุณภาพเครือข่ายและการปรับปรุงภาพลักษณ์ของบริษัท น่าจะใช้เวลาหลายไตรมาส ดังนั้นการปรับตัวดีขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดในปี 2563 อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของรายได้และกำไรที่ช้า ยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทในทันที เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวที่ 2.2 เท่า ณ สิ้นโตรมาสที่ 1 ของปี 2562
AIS น่าจะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้แสดงให้เห็นว่ามีความผันผวนที่ต่ำกว่า และมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงกว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของรายได้โดยรวมอย่างต่อเนื่อง กำไรจากการดำเนินงานที่สามารถคาดการณ์ได้ และการลงทุนที่ลดลง น่าจะทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ AIS ในปี 2562 น่าจะเป็นบวก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับคลื่นความถี่ที่ลดลง และการลดลงของการลงทุนในโครงข่าย หลังจากที่บริษัทเสร็จสิ้นการลงทุนก่อสร้างโครงข่าย 3G และ 4G ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5-1.6 เท่าในปี 2562 จาก 1.7 เท่าในปี 2561 และทำให้AIS มีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้น