กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น
แม้เรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังกลายเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมโลก แต่เรื่องดังกล่าวยังนับเป็นเรื่องใหม่ของหลักสูตรการศึกษาของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยมศึกษา ที่ยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดนำเข้ามาดำเนินการสอนในระบบอย่างจริงจัง
การจัดค่าย Creative AI Camp for Incoming Society ของ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย และ 8 พันธมิตร พาเยาวชนพร้อมด้วยคณะครูเหินฟ้าไปเรียนรู้เรื่อง AI: Artificial Intelligence ที่ Advanced Robotics Center มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และสำนักงาน IBM ประเทศสิงคโปร์ ผู้ผลิตและให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศรายใหญ่ของโลก จึงถือเป็นโอกาสอันดีของเยาวชน ในการได้ศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ จากสถาบันและองค์กรชั้นนำที่เชี่ยวชาญระดับโลก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ผลงาน AI มาช่วยเหลือและพัฒนาสังคม
น.ส.ปิยาภรณ์ พิกุล นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนชานุมานวิทยาคม จ.อำนาจเจริญ เล่าว่าก่อนเธอมาร่วมค่ายนี้ เธอแทบไม่มีความรู้เรื่อง AI หรือแม้กระทั่งการเขียนCoding เลย แต่การมาร่วมกิจกรรมในค่ายและได้พบกับเพื่อนเยาวชนที่พร้อมแลกเปลี่ยน ช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เธอไม่ปิดกั้นตัวเอง ได้เห็นว่าสิ่งที่เคยเรียนมา เช่น วิชาคณิตศาสตร์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะเรื่อง AI นั้นทุกอย่างเป็นตัวเลข ทำให้รู้สึกว่าการเรียนหลายเรื่องสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ
"ตอนอยู่โรงเรียน เป็นคนที่ชอบคิด ชอบจินตนาการไปเรื่อย คิดอะไรที่เกินจริงมากๆ แต่การมาค่าย Creative AI Camp ที่สิงคโปร์ครั้งนี้ ทำให้รู้สึกว่า จริงๆ แล้วทุกอย่างที่เราเคยคิดนั้นเป็นไปได้ จึงอยากจะฝึกฝนและทำให้เกิดขึ้นจริง"
เช่นเดียวกับ น.ส.พีรดา ธนะขว้าง นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม จ.น่าน ในเครือข่ายโรงเรียนประชารัฐของซีพี ออลล์ ที่บอกว่าจากที่ไม่เคยเรียนเรื่อง AI มาก่อน จึงรู้สึกกดดัน แต่พอได้มาเข้าค่ายจริงๆ ทุกคนเป็นกันเอง ทำให้ผลักดันตัวเองมากขึ้น และได้รับความรู้ใหม่ๆ เช่นการเขียน AI ให้ฉลาด เพื่อไปพัฒนา Machine Learning ทั้งในรูปแบบที่มนุษย์เป็นผู้ป้อนข้อมูลให้เรียน และแบบที่ให้ AI เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
"เราอาจคิดว่า AI จะมาแทนคน แต่จริงๆ แล้ว AI มาเพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยให้เราใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น เมื่อได้เห็นและเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ก็ทำให้อยากพยายามฝึกฝน และพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น"
ในการเข้าร่วมกิจกรรมที่สิงคโปร์ เยาวชนทั้ง 4 ทีม 19 ชีวิต จะต้องนำองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จากในค่ายทั้งที่ไทยและสิงคโปร์ มาต่อยอดให้เกิดเป็นไอเดียสร้างสรรค์ผลงานจริงเพื่อช่วยเหลือสังคม หลายผลงานได้รับการตอบรับที่ดีจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและสิงคโปร์ เช่นผลงานแก้ปัญหา Zero Hunger ของกลุ่ม Hextreme และผลงานด้าน Community Relationship ของกลุ่ม Sigma X equal MA
น.ส.กณิกนันต์ ทองเพ็ง นักเรียนระดับ ปวช.2 วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) หนึ่งในสมาชิกทีม Hextreme เล่าว่าจากโจทย์เรื่อง Zero Hunger ที่มีจุดมุ่งหมายให้ลดปัญหาขาดแคลนอาหาร ทีมของเธอเล็งเห็นปัญหาอาหารที่ไม่สามารถขายได้ทันวันหมดอายุในร้านเซเว่นฯ ในประเทศไทย ทีมของเธอจึงเลือกแก้ปัญหาด้วยการพัฒนา AI ขึ้นมา สำหรับการพยากรณ์สต๊อกสินค้าอาหารในร้านเซเว่นฯ โดยคำนวณจากชุดข้อมูลต่างๆ เช่นสถิติยอดขาย พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้สามารถ ช่วยบริหารสินค้ากลุ่มอาหารภายในแนวคิด Food Waste Reduction เพื่อให้อาหารไม่ต้องถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า
"เรื่อง AI ไม่ใช่แค่คนที่ต้องเรียนวิทยาศาสตร์ถึงจะมาเรียนได้ ทุกสายอาชีพสามารถนำเรื่อง AI ไปใช้ประโยชน์สร้างสรรค์สังคมได้ แค่เราต้องหมั่นฝึกฝนและมีวินัยที่อยากจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง"
ด้านนายอติชาต อุปการสังข์ นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Sigma X equal MA กล่าวว่าทีมได้พยายามพัฒนาไอเดียแอปพลิเคชัน "KAIKONG" (ขายของ) เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนกับสินค้าและบริการร้านค้าปลีกทั้งเล็กและใหญ่ของชุมชนไว้ในแอป โดยจะมี AI Chatbot เข้ามาช่วยตอบคำถามว่า สินค้าที่เรากำลังตามหา มีขายที่ไหนบ้าง ราคาเท่าไหร่ ร้านห่างจากเราแค่ไหน และมีระบบการจดจำภาพ (Image Recognition) เข้ามาช่วยตรวจสอบว่าร้านค้าไหนมีสินค้าที่ผู้ใช้กำลังตามหาบ้าง
"จุดมุ่งหมายของทีมคือ อยากให้ร้านค้าปลีกทุกขนาดยังคงสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ โดย แอปของเราจะส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่น เช่น มีการรวบรวมข้อมูลสินค้าOTOPไว้ในแอปด้วย"
ขณะที่นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย อธิบายเสริมว่า องค์กรต้องไม่ล้าสมัย แต่ไม่ล้ำสมัย ต้องผสมผสานเทคโนโลยีอย่างพอดี หากจะให้ AI เป็น AI ที่ดี ต้องปลูกฝังให้คนทำ AI เป็นคนที่ดี จึงใช้การเรียนรู้แบบสหวิทยาการ มีกระบวนการเรียนรู้ AI ที่ผสมผสานหมากล้อม ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจความเชื่อมโยงของวิทยาศาสตร์, ศิลปศาสตร์, คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
โดยร่วมมือกับพันธมิตรจัดค่าย "Creative AI Camp" เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีคุณธรรมควบคู่กับมีความรู้ในการสร้างสรรค์ AI นอกจากการพาเยาวชนมาร่วมเวิร์คช็อปแล้ว ครั้งนี้เรายังพาคุณครูของเหล่าเยาวชนจาก 4 ภาคมาร่วมเวิร์คช็อปด้วย เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถสื่อสารและถ่ายทอดเรื่อง AI ได้อย่างเข้าใจ และเริ่มสร้างครู AI ต้นแบบ ที่จะสามารถพัฒนาและนำหลักสูตร AI ไปต่อยอดในโรงเรียน สร้างเยาวชนของชาติที่จะขับเคลื่อนอนาคตต่อไป
Creative AI Camp ถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งหวังตามปณิธานองค์กรของ ซีพี ออลล์ ในการ "ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน" โดยเหล่าเยาวชนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาเรียนรู้กลุ่มนี้ กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาผลงาน มาต่อยอดให้เกิดเป็นผลงานที่จะไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนผ่านบริบทของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น มิติต่างๆ ในอนาคตโดยสามารถติดตามและส่งต่อโอกาสจากโครงการนี้
ได้ที่ https://www.facebook.com/caicamp